เปิดสถิติชุมนุมการเมืองในประเทศ ครั้งไหนทุบตลาดหุ้นร่วงหนักสุด?

ส่องสถิติการชุมนุมการเมืองไทย ‘พันธมิตร-นปช.-กปปส.-เยาวชนปลดแอก’ ม็อบไหนกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยมากที่สุด จับตาชุมนุม 14 ต.ค. โบรกฯ ชี้กระแสเบากว่า แต่ยังต้องจับตาใกล้ชิด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กดดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ให้ไม่สามารถปรับขึ้นได้มาจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ล่าสุด แม้ว่าการนัดชุมนุมวันที่ 14 ต.ค.63 เทียบกับการชุมนุมใหญ่ครั้งก่อนเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น กระแสจะเบากว่าก็ตาม แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จากสถิติการชุมนุมครั้งสำคัญในอดีต อาทิ การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 การชุมนุมกลุ่ม นปช.ปี 2553 และการชุมนุมกลุ่ม กปปส.ปี 2556 พบว่าตลาดหุ้นมีการปรับฐานเฉลี่ย -6.2% และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเกิดการไหลออกเฉลี่ย -3.78 หมื่นล้านบาท รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 2.2% (ดูตาราง)

ภาพประกอบข่าวชุมนุมกดดัน SET Index

โดยพบว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรส่งผลกดดัน SET Index มากที่สุดที่ -16.6% และกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงมากที่สุดถึง 4.9% ส่วนการชุมนุมที่กดดันฟันด์โฟลว์ให้ไหลออกมาที่สุดคือการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่ -8.47 หมื่นล้านบาท ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกถึงปัจจุบัน พบว่า SET Index ปรับลดลง 7.4% ฟันด์โฟลว์ไหลออก 3.86 หมื่นล้านบาท และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 1.8% คล้ายคลึงกับในอดีต

“เรากังวลว่าหากประเด็นการเมืองกลับมาร้อนแรง ปัจจัยเหล่านี้ ทั้ง SET Index ฟันด์โฟลว์ และค่าเงินบาท จะได้รับผลกระทบคล้ายคลึงกับการชุมนุมทางการเมืองในอดีต จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม” นายเทิดศักดิ์ กล่าว