‘วิโรจน์’ ปัดก้าวไกลอยู่เบื้องหลังม็อบ ท้า ‘เลขาฯสมช.’ เปิดข้อมูลโยงขนคน ซัดอย่ามั่วแบบไอโอ

‘วิโรจน์’ ปัดก้าวไกลอยู่เบื้องหลังม็อบ ท้า ‘เลขาฯสมช.’ เปิดข้อมูลโยงขนคน ซัดอย่ามั่วแบบไอโอ

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการชุมนุมของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม ว่าในส่วนของ ส.ส.พรรค ก.ก.จะลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมเหมือนเดิม การลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ของ ส.ส.ไปในนามปัจเจกบุคคล เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะลงพื้นที่ติดตามการชุมนุม การให้ความเห็น ข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องหรือชี้นำการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะการจัดการและการเคลื่อนไหวการชุมนุมเป็นหน้าที่ของแกนนำ และทำตามมติของผู้ชุมนุมเองที่จะดำเนินการแบบอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติ การสั่งการใดๆ ของพรรค ก.ก. หรือองค์กรใด

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า มวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหน้าเดิม นายวิโรจน์กล่าวว่า อยากให้เลขาฯสมช.ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบในงานด้านความมั่นคง ถ้ามีหลักฐานและข้อมูลที่ชัดเจนว่าพรรคไหน องค์กรใด เข้ามาเชื่อมโยงกับการนำมวลชนมาร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็โชว์หลักฐานออกมาผ่านสื่อสาธารณะได้เลย อย่ามาเชื่อมโยงข้อมูลแบบมั่วๆ ว่ามีผู้สมัคร ส.ส. สมาชิกของพรรคนั้นพรรคนี้มาร่วมชุมนุมในนามส่วนบุคคล แล้วไปเชื่อมโยงว่ามาในนามของตัวแทนขององค์กรนั้น องค์กรนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลแบบนี้ถือว่าเป็นการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้เป็นประโยชน์ใดๆ เลย และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เพราะคนระดับเลขาฯสมช.การจะออกมาให้ข้อมูลอะไรนั้นต้องมีวุฒิภาวะ ต้องมีความน่าเชื่อถือในข้อมูลและหลักฐานมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการทำไอโอของกองทัพกับฝ่ายตรงข้าม

เมื่อถามว่ามีกลุ่มมวลชนอื่นทั้งกลุ่มไทยภักดี กลุ่มของอดีตพระพุทธะอิสระที่ประกาศชุมนุมในพื้นที่ใกล้เคียงกันจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า การชุมนุมของทุกกลุ่มสามารถทำได้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การชุมนุมถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ ประเด็นสำคัญคือการชุมนุมของทุกกลุ่มทุกฝ่ายจะต้องไม่กระทำผิดกฎหมาย หรือยั่วยุให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน และนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของแกนนำและผู้จัดการชุมนุมของแต่ละกลุ่มจะต้องทำความเข้าใจ และควบคุมมวลชนของตัวเองให้ชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการควบคุมและดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าหากทุกฝ่ายยึดหลักการและเคารพกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน การชุมนุมก็จะเรียบร้อย ไม่ขัดแย้งกัน