‘ชำนาญ’ ชี้ กม.เลือกตั้งท้องถิ่นถอดแบบ รธน.60 ไม่เอื้อกระจายอำนาจ-ปิดทางคนรุ่นใหม่

‘ชำนาญ’ ชี้ กม.เลือกตั้งท้องถิ่นถอดแบบ รธน.60 ไม่เอื้อกระจายอำนาจ-ปิดทางคนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ที่ให้ท้องถิ่นต่างๆ จัดเลือกตั้งกันเอง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.) ทำหน้าที่เพียงควบคุมเท่านั้น ส่วนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มอิทธิพลเดิมในพื้นที่ได้เปรียบกว่าหรือไม่ ว่ากฎระเบียบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ใช้จัดเลือกตั้งแบบนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งไม่มีส่วนเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอิทธิพลเดิม เพราะในกฎหมายได้กำหนดว่า เมื่อ กกต.ใหญ่ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ทำหน้าที่รักษาอยู่จะต้องหยุดงานก่อนวันเลือกตั้งถึง 60 วัน ปกติการเมืองท้องถิ่นจะมีการผลัดเปลี่ยนทีมเก่าออกเสมอๆ ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาการในท้องถิ่นนั้นๆ จึงไม่ได้เปรียบกว่าเสมอไป และบางคนก็ไม่ได้อยากลงสมัครเลือกตั้งอีก

นายชำนาญกล่าวต่อว่า ในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 5 ชนิด ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีบางฉบับที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี เดิมคือกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี สะท้อนการไม่ให้คนรุ่นใหม่ลงสมัคร และต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี (ยกเว้น อบต.ที่กำหนดวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมปลาย)

“กฎหมายที่ใช้กำกับการเลือกตั้งทั้ง 6 ฉบับ เป็นการออกแบบที่ยกเอาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 มาเป็นแบบ มีพื้นฐานที่ไม่ไว้ใจประชาชน มีการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครที่เข้มข้นกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และไม่บังคับให้สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งสะท้อนว่าไม่ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีคำว่าการกระจายอำนาจแม้แต่คำเดียว และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เคยเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เพราะมักจะรวบอำนาจนำงานต่างๆ ไปทำที่ส่วนกลาง” นายชำนาญกล่าว