100 บริษัทใหญ่อุ้มเอสเอ็มอี | ธอส.ไม่ห่วงหนี้เสียปล่อยกู้ปกติ | กสทช.เล็งคุมค่ามือถือนอกโปร

แฟ้มข่าว

100 บริษัทใหญ่อุ้มเอสเอ็มอี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ผ่านบริษัทเอกชนรายใหญ่กว่า 100 บริษัท คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของมูลค่าจีดีพี โดยเป็นบริษัทต่างๆ ให้ความร่วมมือชำระหนี้ค่าสินค้า หรือบริการให้แก่คู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอี ภายใน 30 วัน นับจากตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วน และได้รับเอกสารแล้ว เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 จากเดิมแต่ละบริษัทชำระแตกต่างกัน 60-120 วัน เพื่อเร่งเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี คาดช่วยเหลือได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยต้องการให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ทุกแห่ง ชำระให้เอสเอ็มอีภายใน 30 วันเช่นกัน เพื่อเสริมสภาพคล่อง เอสเอ็มอีเป็นคู่ค้าของรัฐจำนวนมาก หากหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติตาม อยากให้มีบทลงโทษด้วย เพราะหน่วยงานรัฐใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนอยู่แล้ว ไม่ควรดองเงินชำระล่าช้า อยากให้เริ่มทันทีในการใช้งบประมาณปี 2564

ธอส.ไม่ห่วงหนี้เสียปล่อยกู้ปกติ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้วกว่า 156,650 ล้านบาท มั่นใจจะทำได้ตามเป้าหมายทั้งปี 2563 ตั้งไว้ว่าจะปล่อยสินเชื่อ 210,000 ล้านบาท โดยเดือนสิงหาคม 2563 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 มียอดสินเชื่อคงค้าง 1,273,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.30% สินทรัพย์รวม 1,351,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.55% เงินฝากรวม 1,110,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.74% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้/หนี้เสีย 51,559 ล้านบาท คิดเป็น 4.05% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 2,044 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้เสียในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนตัวเลขจริง เพราะลูกค้าอยู่ในมาตรการดูแลลูกค้ารับผลกระทบโควิด-19 มีเพียง 1 ใน 3 อาจไม่แข็งแรง เห็นได้จากมาตรการการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับลูกค้ามีหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มีลูกค้าเข้าร่วม 1.8 แสนล้านบาท หลังสิ้นสุดมาตรการในเดือนสิงหาคม เห็นสัญญาณมีปัญหาเพียง 9,000 ล้านบาทเท่านั้น ยังมีลูกค้ากว่า 8 แสนล้านบาทชำระหนี้ดีทุกงวด ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าว เพื่อตอบแทนและให้กำลังใจลูกค้า และเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

ไทยออยล์ผุดโครงการสะพัด 4 หมื่นล้าน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 โดยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด หรือซีเอฟพี เป็นโครงการลงทุนแรกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใช้เม็ดเงินลงทุน 150,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าโครงการนี้จะช่วยก่อเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศกว่า 40,000 ล้านบาท จากการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ 17,000 ล้านบาท และการจ้างงาน 23,000 ล้านบาท ช่วงก่อสร้างโครงการปี 2562-2566 ประเมินมีการจ้างงานโดยรวม 21,000 อัตรา ปัจจุบันจ้างแรงงานแล้ว 12,000 อัตรา ส่วนที่เหลือ 9,000 อัตราจะจัดจ้างปี 2564 และจ้างเพิ่มอีก 400 อัตรารองรับการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2566

คลังยันคืนเงินร้านค้า “คนละครึ่ง”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่ง ที่เปิดให้ร้านค้ารายย่อยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์คนละครึ่งดอทคอม ตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนกังวลในการคืนเงินสมทบและขั้นตอนการลงทะเบียน รวมถึงการใช้งาน ในส่วนของการคืนเงินสมทบระบบจะคืนเงิน 50% ในวันรุ่งขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการซึ่งระบบมีความพร้อมแล้ว หากร้านค้าหาบเร่ แผงลอย หรือพ่อค้าแม่ตลาดนัดกังวลวิธีการลงทะเบียนหรือใช้งานแอพพลิเคชั่นถุงเงิน ธนาคารกรุงไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือ สำหรับประชาชนเริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม จำกัดไม่เกิน 10 ล้านคน เปิดให้ใช้จ่ายได้ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 โดยผู้ได้รับสิทธิต้องเริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน ไม่อย่างนั้นถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้

กสทช.เล็งคุมค่ามือถือนอกโปร

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า กสทช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก หรืออัตราค่าบริการนอกโปร ตั้งเป้าคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ถูกคิดค่าบริการนอกโปรในอัตราที่สูงเกินควร รวมทั้งลดผลกระทบจากปัญหาบิลช็อก ผู้บริโภค-นักวิชาการต่างประสานเสียงเห็นด้วยในหลักการที่ กสทช.ต้องกำกับดูแล แต่กังขาว่าค่าบริการที่กำหนดนั้นยังคงสูงเกินไป และผู้ให้บริการอาจผลักภาระทำให้ค่าบริการในโปรแพงขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดค่าบริการนอกโปรได้ไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของค่าบริการ ดังนี้ บริการเสียงไม่เกิน 1.60 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ไม่เกิน 2.50 บาทต่อข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (เอ็มเอ็มเอส) ไม่เกิน 4.50 บาทต่อข้อความ และบริการอินเตอร์เน็ตไม่เกิน 0.90 บาทต่อเมกะไบต์

โดยมีผลบังคับใช้ภายวันที่ 31 ธันวาคมนี้