เสวนาแก้รธน. ‘โคทม’ หวัง 14 ต.ค.ไล่ทหารพ้นการเมือง ‘สุดารัตน์’ ดักทาง ห้ามตั้งรบ.แห่งชาติ-ทำรปห.

เสวนาแก้รัฐธรรมนูญ : ‘โคทม’ หวัง 14 ต.ค.นี้ ขับไล่ทหารพ้นการเมืองไทยอย่างถาวร ‘พรสันต์’ ชี้ การเมืองเกี่ยวโยง กม.-ศก.-ชีวิตปชช. ‘ยิ่งชีพ’ ลั่น หาก ส.ว. ไม่โหวตรับร่างแก้ จะได้เห็นความโกรธของปชช. ‘สุดารัตน์’ ดักทาง ห้ามตั้งรัฐบาลแห่งชาติ-ทำรัฐประหาร ‘โภคิน’ ขอทุกร่วมผลักดัน ให้ประเทศเดินหน้า ด้าน ‘นิกร’ เชื่อ รัฐบาลไม่ปิดประตูแก้รธน.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ตุลาคม ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อาคารสำนักงาน (ด้านหลัง) อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซ.ดำเนินกลางใต้ แยกคอกวัว ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับสถาบันสร้างไทย จัดงานสัมมนา เรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย” โดยวิทยากร นายโคทม อารียา ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) นายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) และนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายโคทม กล่าวว่า ที่ผ่านมา 14 ตุลาคม 2516 ยังจบ เพราะยังเห็นทหารการเมืองออกมาเรื่อยๆ ในปีนี้ตนจึงแอบหวังว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2563 จะกลายเป็นความหวังของตนอีกหรือไม่ ในการขับไล่ทหารการเมืองออกไป สังคมจะชอบทหาร หากท่านทำหน้าที่ของท่าน แต่ถ้าท่านไม่ทำหน้าที่ของท่าน จะให้เราชอบได้อย่างไร

ส่วนเหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเพราะความไม่ยุติธรรม เพราะผู้มีอภิสิทธิ์อ้างสิทธิที่จะมีอำนาจต่อไป โดยให้เหตุผลว่า ขอเวลาทำงานเพื่อประชาชน และมีคนมากมายที่รักชาติสนับสนุนตัวเอง แต่ประชาชนควรเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารประเทศ วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เราจะบอกด้วยเสียงอันดังว่าประชาชนเดือดร้อน และขอเชิญทหารออกจากการเมือง

เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ยุติธรรม จึงต้องมีการรื้อสร้างคือ การไว้ใจประชาชน ให้ตัดสินที่จะเลือกเดินไปข้างหน้า และจะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไร ความแตกต่างระหว่างร่างของรัฐบาล และร่างฝ่ายค้าน คือ ความแตกต่างเรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐบาลระบุว่าต้องการเสียง 3 ใน 5 หมายความว่า ถ้าส.ว. 250 คนไม่เห็นด้วย ไปหา ส.ส. มาเป็นพวกอีก 45 คน ก็แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ไม่ผ่าน หากอยากจะแก้รัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นต้องเอาร่างของฝ่ายค้าน คือใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง

ขณะที่ นายพรสันต์ กล่าวว่า ตนนึกถึงวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 ตนเคยบอกว่าจะเกิดรัฐบาลผสม จนสุดท้ายต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และมันก็เกิดขึ้นมาหมดตามที่ตนคาดการณ์ไว้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกร่างโดยการฝืนธรรมชาติ และจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี ส่วนประเด็นที่ส.ว. และ ส.ส. บางท่านพูดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องทางการเมือง ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ การอธิบายแบบนี้อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะการเมือง เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เศรษฐกิจ และการกำหนดโครงสร้างของสัมคม ถ้าการเมืองดี กฎหมายก็จะดี เศรษฐกิจก็จะดี และมาตรฐานชีวิตของประชาชนก็จะดี ปัจจุบันเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมา หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่แก้ไข และทำให้ดีขึ้น

นายพรสันต์ กล่าวต่อว่า การที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ และส.ว. มาจากการทำประชามติ แต่ถ้าพิจารณาดีๆ การทำประชามติมีหลักการพื้นฐาน คือต้องอยู่บนหลักของความเสมอภาค เสรี และมีการให้ข้อมูลอย่าครบถ้วนรอบด้าน ทั้งข้อดีข้อเสีย (Informed Vote) และประชาชนลงมติอย่างอิสระเสรี แต่เราอาจจะไม่เคยเรียนรู้จากประสบการณ์ คือเราต้องย้อนกลับไปตอนทำรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งทำให้ไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ ความขัดแย้งมันจึงไม่จบ คือสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ยาวมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา เพราะถูกยกร่างโดยคนกลุ่มเดียว เพื่อคนกลุ่มเดียว ดังที่มีคนพูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่ใช่ของประชาชน ทั้งนี้ การตัดสินใจต้องมาจากเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง และถึงเวลายกร่างใหม่โดยประชาชนเอง เพราะรัฐธรรมนูญคือ สัญญาประชาคม

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ประชาชนมากกว่า 1 แสนคนร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็มีความหวังเพราะบรรยากาศในปีนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ปกติได้ตระหนักรู้แล้วว่า ระบบการเมืองที่ไม่ปกติเป็นอย่างไรและได้ใช้ทุกช่องทางที่สามารถทำได้เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ปกติซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐาน นี่เป็นข้อเสนอที่เห็นต่าง และเป็นข้อเสนอที่ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาไม่สามารถปฏิเสธได้และไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการปฏิเสธได้

นายยิ่งชีพกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด เพื่อหาทางออกตามระบบทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งหากคนที่อยู่ในสภาโหวตไม่รับก็ควรที่จะต้องอับอายต่อตัวเองและประชาชน โดยหากมี ส.ว. โหวตไม่รับก็จะทำให้ประชาชนโกรธเคืองมากขึ้น และถ้ามีการโหวตไม่รับก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มาจากความโกรธของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นเผด็จการภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรม มีกติกาคำนวณ ส.ส. ที่ทำให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ทางออกความขัดแย้งอย่างสันติ ไม่ใช่มาตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อยื้อเวลา หรือแก้ด้วยวิธีรัฐประหารอีก ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนต้องเขียนด้วยประชาชน โดยการตั้ง ส.ส.ร. ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ พร้อมให้แก้ไขเงื่อนไขเฉพาะกิจเป็นทางออกระหว่าง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ คือการแก้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และปิดทางนายกฯคนนอก เพราะหากนายกฯ ยุบสภากลางคันอาจเป็นปัญหาได้ถ้าไม่แก้ เงื่อนไขเฉพาะกิจตัดอำนาจ ส.ว. เสียก่อน ยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเพื่อประชาชน ดังนั้นขอผู้มีอำนาจอย่าหลอกลวง

“ทั้งนี้รู้สึกดีใจที่นายนิกร บอกว่ารัฐสภาจะโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และอยากฝากว่าในการผ่านมาตรา 256 เรื่องสำคัญคือการคืนสิทธิของประชาชนอย่างจริงใจ และขอย้ำว่า 4 ญัตติของพรรคเพื่อไทย จะเป็นแผนเฉพาะกิจในการหาทางออกของประเทศ วันนี้ขอใหเราส่งเสียงดังๆ ให้ผ่านทุกญัตติที่มีการเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน และพรรครัฐบาลด้วย” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ด้านนายนิกร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกของประเทศ ตนรู้สึกว่ามีประตูที่เป็นทางเข้าสู้วิกฤตอย่างรุนแรงของประเทศ เพราะเรามีปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างวัย เพราะตอนนี้เด็กกับผู้ใหญ่คุยกันไม่รู้เรื่อง และปัญหาทางการเมืองรุนแรงมากในสภาฯ ตอนที่อภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ เหมือนเราอยู่ท่ามกลางแล้วมีกระสุนมาจากทั้งสองข้าง ทั้งนี้เรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นประตูสู่วิกฤตครั้งใหญ่มากกว่า ปี 35 แต่ก็เป็นประตูเดียวที่จะออกจากวิกฤตเช่นเดียวกัน ดังนั้นก็เลือกเอาแล้วว่าจะเปิดเข้าหรือเปิดออก ทั้งนี้จุดเแข็งรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เราทำสำเร็จเพราะไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ ดังนั้นวันนี้ก็เช่นกันถ้าต้องการรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ก็ไม่มีทางทำได้

นายนิกร กล่าวว่า ทั้งนี้ตนไม่ห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะเขียนเอาไว้เป็นค่ายกลเจ็ดดาว ซึ่งแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีการทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจี้ไปที่มาตรา 256 โดยเป็นประตูที่จะประตูที่จะเปิดสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตามในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 80 % เชื่อว่าจะแก้ได้ จากที่ฟังความเห็นทั้งจากฝ่ายค้าน รัฐบาล และส.ว. โดยอาจจะเป็นฉบับที่ 1 หรือ 2 ทั้งนี้ยืนยันว่าในการรับหลักการในวาระแรก พรรคชาติไทยพัฒนา จะรับอย่างแน่นอน นอกจากนี้จากที่มีการตั้งกมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ที่กำหนดระยะเวลาศึกษาไว้ 30 วัน ก็คาดว่าในวันที่ 21 ตุลาคม จะพิจารณาแล้วเสร็จ และวันที่ 22 ตุลาคม จะมีการตรวจสอบความเรียบร้อย และจะนำรายงาน นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ต่อไป

นายโภคิน กล่าวว่า ตนไม่อยากอธิบายรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเท่าที่เราประสบทุกวันนี้ตนเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้พอสมควร แต่ถ้าจะสรุปง่ายๆ เขาร่างฉบับนี้ขึ้นมาวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งและแม้จะชนะเลือกตั้งได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระต่างๆ ก็ตั้งเองทำให้พร้อมแจกข้อหา แต่พอร่างไป “ฉันอยู่ต่อก็ได้นี่” จึงวางมาตรการในบทเฉพาะการต่างๆ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป แต่สิ่งที่จะบล็อกประชาธิปไตยกับกลายเป็นว่าบล็อกตัวเองไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะองค์กรที่จะช่วยตีความช่วยเขาหมด เราจึงได้เห็นความพิลึกเกิดขึ้นและประเทศเดินต่อไปไม่ได้

นายโภคิน กล่าวว่า การตกผลึกของอดีตเราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง เกิดขึ้นได้จากพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง พรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองสูง รัฐธรรมนูญ 2540 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พยายามที่จะสร้างกลไกตรวจสอบต่างๆ ทำหน้าที่ให้ผู้ที่อยู่ในการเมืองมีความโปร่งใสที่สุด และ รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งไม่ต่อเนื่อง การดูแลประเทศชาติและประชาชนก็เป็นไปไม่ได้ แม้ในปี รัฐธรรมนูญ 2550 มีการพยายามทำให้อ่อนแอลงแล้วแต่ก็ไม่เท่ากับปี รัฐธรรมนูญ 2560 จึงทำให้เราเห็นผลของการสือทอดอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ไม่ได้ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเลย ตนเองก็มองว่า “สิ่งที่จะเป็นทางออกของความขัดแย้ง 15 ปี ของระบบการเมืองทั้งหมดนั้นมีทางเดียว คือ เราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” แต่ก็มีคนถามว่ารัฐธรรมนูญ 40 ไม่ใช่ฉบับประชาชนหรือ ตนตอบว่าใช่ แต่เมื่อย้อนกลับไปในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หลังจากนานปรีดี พนมยงค์ ถูกจัดการไปแล้ว ก็วนเวียนระหว่างระบบอำนาจนิยม ที่ครอบงำโดนทหารส่วนหนึ่งและอำนาจศักดินาวนไปมาจนถึง 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตกเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น

นายโภคิน กล่าวต่อว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะไม่เป็นเครื่องมือของใคร แต่เป็นผู้ที่จะบอกว่าทุกปัญหาจบที่ประชาชน จบโดยที่เราต้องผลักดันให้มีการตั้งส.ส.ร. เหมือนเมื่อปี 2540 ถ้าวันนี้ไม่แก้ไข เมื่อ “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” แล้วทำไมประชาชนจะเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้ กำหนดชะตากรรมตัวเองไม่ได้ ทำไมต้องให้คนอื่นมาเขียนและสอนประชาธิปไตยให้กับตัวเอง ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องบอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน จำเป็นต้องมีส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โมเดลที่นำเสนอก็คือ มี 200 คน สัดส่วนจะมากจะน้อยก็อยู่ที่จำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด เมื่อร่างเสร็จไปประชามติ แต่ก็มีเสียงบอกว่าตีเช็คเปล่า ถามว่าอำนาจเป็นของประชาชนจะตีเช็คเปล่าให้ประชาชนจะเสียอะไร แล้วทีพวกฉีกและเขียนเช็คตามใจชอบคุณดันยอมรับมันได้แต่นี้ให้ประชาชนเขียน ตนเชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไรประชาชนเขียนไม่มีทางเขียนเป็นเผด็จการ ตนจึงมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นทางออก แต่ทางออกนี้ต้องเริ่มแก้จากรัฐธรรมนูญ 60

นายโภคิน กล่าวว่า ร่างญัตติที่เขียนเสนอไปไม่ได้ยุ่งหมวด 1 หมวด 2 ที่ไม่ยุ่ง หมวด 1 มันเป็นเรื่องของความเป็นรัฐ หมวด 2 เป็นเรื่องพระมหากษัตริย์ เราก็เว้นไว้เราอยากมาดูในหมวดที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพราะถ้าเรากำหนดตรงนี้ได้จุดอื่น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ต่ออีกต่อไป ในกระบวนการของคนที่ทำงานตรงนี้หวังให้เกิดความสำเร็จ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อก่อนพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ไหนก็บอกว่าไกลตัวไกลปากท้อง แต่ในปัจจุบันทุกคนบอกว่าปากท้องมาไม่ได้ถ้ากติกาเป็นอย่างนี้และได้รัฐบาลแบบนี้ ทุกคนตระหนักแล้วว่าประเทศนี้ต้องมีหลักการที่ทุกคนสามารถเดินไปได้ด้วยกัน ตนเองจึงดีใจมากที่มีกรรมาธิการ (กมธ.) และกมธ.ก็ออกมารายงานว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 พรรคเพื่อไทยจึงเสนอ 4 ญัตติ คือการตัดอำนาจของ ส.ว.โดยเฉพาะเรื่องการเลือกนายกและการปฏิรูปต่างๆ ที่ทำทั้งหมดเพื่อทำให้เกิดส.ส.ร.และเราก็ได้เชิญทุกฝ่ายเพื่อทำให้มันสำเร็จ ถ้าการแก้ไขนี้ไม่สำเร็จตนก็ไม่อยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงอยากขอ ให้พวกเราทุกคนร่วมกันผลักกันทำให้ทุกฝ่ายหันมาเดินทิศทางเดียวกัน ประเทศจะได้เดินหน้าไปได้อย่างสันติ ตนเชื่อว่าการร่างส.ส.ร.นั้นยากที่ใครจะไปกดดันหรือไปบีบบังคับให้เขียน เพื่อให้ใครสืบทอดอำนาจ