ต่างประเทศอินโดจีน : เกษตรดิจิตอลที่กัมพูชา

อัตราการขยายตัวของผลิตผลทางการเกษตรในกัมพูชา ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึงปี 2007 ผลผลิตด้านเกษตรกรรมของกัมพูชาขยายตัวที่ระดับเฉลี่ย 7.2 เปอร์เซ็นต์ ก่อนลดลงมาอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2008-2012 แล้วเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงหลายปีหลังมานี้สัดส่วนของผลผลิตภาคเกษตรกรรม, ประมงและป่าไม้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเคยอยู่ที่ 28.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2014 เหลือเพียง 20.7 เปอร์เซ็นต์

แรงงานภาคเกษตรกรรมที่เคยมีสัดส่วนถึง 45.9 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดของกัมพูชา ในปีเดียวกันลดลงเหลือเพียง 32.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สาเหตุทางหนึ่งมาจากผลิตภาพของเกษตรกรรมกัมพูชาถดถอยลงต่ำไปเรื่อยๆ อีกทางหนึ่งนั้นเกิดจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาก็คือ ภาวะโลกร้อนยิ่งเข้มข้นมากขึ้นทุกที โอกาสที่เกษตรกรกัมพูชาจะเจอะเจอภาวะน้ำท่วมยืดเยื้อ หรือแล้งเข็ญยาวนาน ก็ทวีสูงขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงมากเท่าใด หนทางแก้ยิ่งต้องเข้มข้นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลกัมพูชาน่าสนใจอย่างยิ่ง หากดำเนินการได้ตาม “มาสเตอร์แพลน” จริงๆ ถือได้ว่าเป็นการยกเครื่องเกษตรกรรมครั้งใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว

รัฐบาลกัมพูชานำเสนอ “พิมพ์เขียวเกษตรกรรม 2030” (เอเอสเอ็มพี 2030) ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน, การมีส่วนร่วม, ความแน่นอนและความยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมของประเทศด้วยการปรับปรุงให้ทันสมัย กลายเป็น “เกษตรดิจิตอล” ให้ได้ภายใน 10 ปีนี้

ยกเครื่องการทำการเกษตรเสียใหม่ โยนทิ้งเครื่องมือเกษตรกรรมที่ล้าหลังทิ้งไป แล้วเพิ่มจักรกลทันสมัยใหม่ๆ เข้าไปให้มากขึ้นกว่าเดิม

ขอแค่ให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศเพิ่มมูลค่าขึ้นเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทุกปี

 

ที่ผ่านมา เกษตรกรกัมพูชาบางส่วนไม่ได้อยู่เฉย รอให้สถานการณ์บีบรัดจนดิ้นหนีได้ยากแต่อย่างใด เห็นได้จากความพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น พึ่งพาแรงงานคนน้อยลง

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การนำเทคโนโลยี “โดรน” มาใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลง ที่ลดการใช้แรงงานลงพร้อมๆ กับลดความเสี่ยงสัมผัสสารพิษของผู้คนลงได้พร้อมๆ กัน

หรือการเพิ่มการใช้งานระบบชลประทานอัตโนมัติ ที่เกษตรกรสามารถควบคุมได้จากระยะไกลผ่านสมาร์ตโฟน ประหยัดทั้งเวลาและน้ำที่ทรงคุณค่าไปด้วยกันในคราวเดียว

พิมพ์เขียว 2030 ของกัมพูชายืนอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว แต่ก้าวขึ้นไปอีกระดับ ใช้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ไอไอซี ในกรุงพนมเปญ เตรียมการนำ “บิ๊กดาต้า” มาใช้ประโยชน์

 

เทคโนโลยีสองอย่างถูกหยิบยกขึ้นมาให้เห็นตัวอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่ง คือ “ไอโอที-อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์” อีกหนึ่งคือ “แมชีนเลิร์นนิ่ง” ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” ทั้งสองเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการเกษตรกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง

หากเป็นไปตามแผน ไอโอทีจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการ ตั้งแต่การตรวจหาโรคพืช, การวางแผนชลประทาน, การคาดการณ์ผลผลิต, การบริหารจัดการน้ำ, การจัดการปศุสัตว์ เรื่อยไปจนถึงการพยากรณ์อากาศ

ผลสุดท้ายจะเป็นการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาใหญ่ของกัมพูชาในเวลานี้ก็คือ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรเท่านั้นที่มีสมาร์ตโฟนใช้งาน แม้ว่า 80 เปอร์เซ็นต์จะมีมือถือใช้ก็ตามที

โชคยังดีที่ยังมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เลือกใช้ในระดับราคาที่เกษตรกรพอรับได้ ทดแทน

แต่ก็นับเป็นแผนพลิกฟื้นเกษตรกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาควร “ลงทุน” ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมาให้ได้