‘ปิยะสกล’ เผยนายกฯ ส่งโน้ตห่วงใยพยาบาล ขอหารือ ‘วิษณุ’ ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา(คลิป)

หลังจากเกิดกระแสลุกฮือของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพที่ออกมาคัดค้านและแสดงความไม่พอใจภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) 10,992 อัตราตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข( สป.สธ.) เสนอ โดยนัดรวมพลกันแสดงจุดยืนไม่พอใจผ่านหน้าเฟชบุ๊กของแต่ละบุคคล และในเพจเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และ Nurse Team Thailand โดยนัดรวมกันเคลื่อนไหว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆจะรวมตัวกันลาออกวันที่ 30 กันยายน 2560 เพื่อไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแทนนั้น

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 พฤษภาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรียกประชุมด่วนผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะที่ปรึกษา และนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดสธ. ซึ่งดูแลเกี่ยวกับตำแหน่งบุคลากรสธ.ทั้งหมด รวมทั้งผู้แทนสภาการพยาบาล เข้าหารือถึงประเด็นดังกล่าว โดยก่อนการประชุม นพ.ปิยะสกล กล่าวกับผู้ร่วมประชุม โดยเฉพาะฝ่ายที่ทำหน้าที่เสนอตัวเลขและแจกแจงรายละเอียดอัตรากำลังพยาบาลว่า หลังจากครม.มีมติดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เขียนโน้ตว่า “เราต้องบริหารจัดการให้เต็มที่ก่อน และหากพบว่ายังขาดแคลนจำนวนเท่าไหร่ ทำเรื่องขอไปใหม่ได้ โดยมติครม.เปลี่ยนแปลงได้”

นพ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการประชุม ว่า จริงๆตำแหน่งที่ขอไป 10,992 อัตรานั้น เป็นการขอใน 3 ปี ซึ่งเมื่อมีมติครม.ออกมานั้น นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องนี้มากและได้ส่งโน้ตเขียนด้วยลายมือท่านว่า เป็นห่วง แต่อยากให้บริหารจัดการไปก่อน แต่เมื่อจัดการแล้วมีตำแหน่งที่จำเป็นก็ต้องขอเข้ามาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีเจ้าหน้าที่ บุคลากรสาธารณสุข กว่า 4 แสนคน มีอัตราว่างประมาณหมื่นคน คือประมาณร้อยละ 5 จากทั้งกระทรวง ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ หรือ คปร. อาจคิดว่าจำนวนนี้น่าจะไปจัดการได้ก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อทางสธ.มาคุยกันก็มองว่าน่าจะลดอัตราว่างจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2-3 ได้ แต่อัตรานี้ไม่ใช่แค่พยาบาลเท่านั้น ยังรวมเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ

“กรณีของตำแหน่งพยาบาลนั้น ท่านนายกรัฐมนตรี ก็เป็นห่วงและให้ไปจัดการก่อน ซึ่งผมก็เรียนท่านนายกฯว่า จะมาปรับระบบการบริหารเรื่องอัตรากำลังให้ดีที่สุด โดยใช้อัตราว่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และเมื่อมีปัญหาต้องปรับเปลี่ยนจะขอเรียนท่านนายกฯอีกครั้ง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ข้าราชการเท่านั้น ยังรวมถึงพนักงานราชการก็ต้องให้มีความก้าวหน้าพวกเขาด้วย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง คปร. และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ต้องมีความใกล้ชิดกว่านี้ โดยจะขอไปเรียนปรึกษาท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้าเพื่อขอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ก.พ. คปร. และหน่วยงานกลาง อย่างมหาวิทยาลัยมาร่วมศึกษาเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสม” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เครือข่ายพยาบาลยังกังวลและต่างลุกฮือว่าจะเดินหน้าคัดค้าน พร้อมทั้งรวมทั้งกันผ่านโซเชียลฯว่าจะลาออกในวันที่ 30 กันยายนนี้ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เมื่อทราบเรื่องก็รีบเรียกประชุมหารือมาตลอด ซึ่งพยาบาลเป็นของคู่กับโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้เข้าใจว่า สธ.กำลังพยายามช่วยเหลืออยู่ อย่าเพิ่งสูญเสียกำลังใจไปเลย ซึ่งขอย้ำว่า ท่านนายกรัฐมนตรี รวมทั้งทีมงานสธ. ต่างเห็นความสำคัญของพยาบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการทำงานของคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นนั้น จะมุ่งลักษณะใด นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า คณะทำงานนี้ จะเป็นช่องทางในการพูดคุยถึงปัญหาอัตราตำแหน่งของบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ แต่ในส่วนของพยาบาล นอกจากเรื่องความขาดแคลนจริงๆของวิชาชีพนี้แล้ว ยังต้องพูดคุยถึงหนทางในการเพิ่มความก้าวหน้าให้พยาบาลในส่วนของพนักงานราชการด้วย

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนพยาบาลในกระทรวงฯมี 100,855 คน เป็นข้าราชการ 87,252 คน เป็นพนักงานราชการ 260 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน ทั้งนี้ ปี 2559 บรรจุไปแล้ว 1,700 ตำแหน่ง และในปี 2560 มีจำนวนที่คำนวณตำแหน่งว่างแล้ว 2,621 ตำแหน่ง โดยมี 1,200 ตำแหน่งจะได้บรรจุภายใน 1-2 เดือน ซึ่งได้กระจายให้เขตตรวจราชการดำเนินการแล้ว และอีก 600 ตำแหน่งได้บรรจุภายในเดือนกันยายน 2560 ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคมจะมีพยาบาลเกษียณอายุราชการอีก 800 ตำแหน่ง ซึ่งก็จะว่างและสามารถบรรจุเพิ่มได้อีก

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพที่จะขอบรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 10,992 ตำแหน่ง เป็นการคิดคำนวณ 3 ปีตั้งแต่ปี 2561-2563 ซึ่งเมื่อมีการจัดสรรเรื่องตำแหน่งว่างต่างๆ แล้ว โดยเฉพาะก็น่าจะลดลงไม่มาก จะอยู่ที่ตัวเลข 9,000-10,000 ตำแหน่งในกรอบระยะเวลา 3 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 3 พันตำแหน่ง โดยเป็นตัวเลขที่คิดคำนวณแล้วว่า หากได้จำนวนนี้ในแต่ละปี จะสามารถแก้ปัญหาพยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอในระบบได้ และในปี 2564 ก็อาจไม่ต้องขอตำแหน่งในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก

ขอบคุณมติชนออนไลน์