ครม.ไฟเขียวแผนบริหารหนี้ปี’64 วงเงินก่อนหนี้ใหม่ 1.4 ล้านล้าน – หนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน 60% จีดีพี

เมื่อวานนี้ (29 กันยายน 2563) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีแผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,465,438 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม 1,279,446 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ 387,354 ล้านบาท

การจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ได้พิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้รัฐวิสาหกิจ โดยประมาณการหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตามแผนอยู่ที่ 57.23% ใกล้เพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี

ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ยังเห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 44 แห่ง จาก รสก.จำนวน 52 แห่ง แต่อีก 8 แห่ง จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีวงเงินดำเนินการจำนวน 1.51 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 2.91 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การประมาณการงบทำการประจำปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ ประมาณ 7.35 หมื่นล้านบาท ในส่วนระยะยาว ประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 3.83 แสนล้านบาท ผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 1.06 แสนล้านบาท เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง จะมีวงเงินดำเนินการ รวม 1.55 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน รวม 4.32 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินจำนวนมากที่จะเข้าสู่ระบบเศรฐกิจ เพิ่มเติมจากงบฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

ดังนี้ จากรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 8 แห่ง วงเงินดำเนินการ 3.49 แสนล้านบาท วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 1.91. แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัด 15 กระทรวง จำนวน 44 แห่ง วงเงินดำเนินการ 1.21 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน รวม 2.41 แสนล้านบาท และ ยังไม่รวมงบที่อาจมีเพิ่มเติมระหว่างปีจำนวน 3.5 แสนล้านบาท
สำหรับวงเงินเพื่อใช้ในการดำเนินการ 16 โครงการ อาทิ 1. โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

3. โครงการเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟด้วยสายเคเบิลใต้น้ำให้เกาะต่างๆ ที่มีไฟฟ้าใช้แล้ว ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน เป็นต้น