ธนาคารโลก ชี้ เศรษฐกิจไทย ติดลบลากยาว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีส่วนทำพิษ

ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 8.3% และอาจแย่สุดถึง 10.4% ชี้ลากยาว 3 ปี กว่าจะฟื้น เหมือนก่อนมีการระบาดของ โควิด-19

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานอัพเดทด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยคาดการณ์ว่าปี 2563 ภูมิภาคนี้การขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเติบโตขึ้นเพียง 0.9%

ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 ที่เติบโตสุด คือ จีนคาดว่าจะเติบโต 2% ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงโดยเฉลี่ย -3.5% โดยไทยคาดว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ -8.3% และกรณีแย่สุด คือ -10.4% และในปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ 4.9%

“ประเทศไทยมีการคุมระบาดของโควิด-19 ได้ดี ในส่วนมาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ประชาชนครัวเรือน

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหาสมดุลในการดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว เพราะตอนนี้การลงทุนลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อย ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมายังไม่เพียงพอ ถึงจะมีวงเงิน 8-13% ของจีดีพี แต่ปฏิบัติได้จริงมีเงินช่วยเหลือออกไปแค่ 4% ของจีดีพีเท่านั้น”

ขณะเดียวกันธนาคารโลก คาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นออกมาอีก เพราะมาตรการแจกเงิน 3,000 บาท ธนาคารโลกมองว่ายังไม่เพียงพอ สำหรับการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มองว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะว่าการมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และยังไม่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยได้ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

จึงมองว่ารัฐบาลต้องพยายามหาสมดุลระหว่างนโยบายด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ถือเป็นความเสี่ยง ขณะที่ระยะยาวมาตรการนี้ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจได้อีกนานแค่เท่าใด

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เลวร้าย มีการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 จะทำให้จีดีพีไทยปี 2563 ขยายตัวติดลบถึง 10.4% เพราะจะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเงินมีปัญหาทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวเหมือนเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา

รวมถึงยังต้องเผชิญกับการเกิดภัยแล้ง และน้ำท่วม ส่งผลกระทบกับรายได้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมือง จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ก่อนมีการระบาดของ โควิด-19