“ภราดร” แจง เงินทดลองจ่าย ภท. 30 ล้าน เป็นงบต่อเนื่อง ยันพรรคไม่กู้

วันที่ 29 กันยายน 2563 นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความใน Facebook ส่วนตัวเปิดเผยรายชื่อพรรคการเมืองที่ปรากฏประการเงินกู้ในเอกสาร รวมถึงเงินทดรองจ่าย ซึ่งมีการอ้างถึงเงินทดรองจ่าย ของพรรคภูมิใจไทยจำนวน 30 ล้านบาท โดยนายภราดร ชี้แจงว่า ข้อสังเกตของนายสมชัย ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เป็นคนละกรณีกัน เนื่องจากเป็นเงินทดรองจ่ายของพรรคสะสมมาตั้งแต่ปี 2557 โดยภายหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ห้ามไม่ให้มีการประชุม รวมถึงห้ามไม่ให้อุดหนุนเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้เรียกเงินที่ได้จัดสรรและเงินเหลือจ่ายจากพรรคคืนแก่กองทุนด้วย ทั้งนี้ ในการคงอยู่ของพรรคการเมืองจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่เกิดขึ้น แต่เมื่อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงห้ามหารายได้ และรับบริจาคจากสมาชิกและบุคคลทั่วไป กรรมการของพรรคจึงได้ทดรองเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ในช่วงที่อยู่ระหว่างภายใต้บังคับของประกาศของ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และหลังจากหัวหน้า คสช.ได้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นปกติ พรรคภูมิใจไทย จึงไม่ได้มีเงินทดรองจากกรรมการอีกแต่อย่างใด

“จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่าในงบการเงินปี 2560 มีเงินทดรองจากกรรมการ 23 ล้านบาทนั้น เป็นยอดเงินที่ยกมาจากปี 2559 ถึง 20 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 มีเงินทดรองจากกรรมการอีกเพียง 3.5 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกับยอดเงินที่ยกมาจากปี 2559 จึงเป็นจำนวนเงินรวม 23 ล้านบาท และปี 2561 ปรากฏในงบการเงิน มีเงินทดรองจากกรรมการ 30 ล้านบาทนั้นเป็นยอดเงินที่ยกมาจากปี 2560 จำนวน 23 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 มีเงินทดรองเพียง 6.2 ล้านบาท เมื่อรวมกับยอดเงินที่ยกมาจากปี 2560 จึงเป็นจำนวนเงินรวม 30 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าในปี 2560 มีเงินทดรองจากกรรมการจำนวน 23 ล้านบาท และในปี 2561 ก็ไม่ได้มีเงินทดรองจากกรรมการ 30 ล้านบาทแต่อย่างใด แต่เป็นยอดเงินที่ยกมาในแต่ละปี” นายภราดร กล่าว

นายภราดร ย้ำว่า เงินทดรองจากกรรมการของพรรคภูมิใจไทยเป็นเงินทดรองที่จำเป็นต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคที่จำเป็นและมีจำนวนไม่มาก ในแต่ละปีไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองภายใต้สภาวการณ์ที่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศ คสช. ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกู้ยืมเงิน จึงไม่ได้มีสัญญากู้ยืมเงินแต่อย่างใด และเรื่องนี้ทางพรรคภูมิใจไทยก็ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563