หมอจุฬา เสนอแนวคิดเจาะเลือด นทท. หาโควิด พิสูจน์หลักลดกักตัวเหลือ 7 วัน

หมอจุฬา เสนอแนวคิดทดลองเจาะเลือด นทท. หาโควิด-19 พิสูจน์หลักการลดกักตัวเหลือ 7 วัน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงหลักการในการลดระยะเวลาการกักกันโรค (Quarantine) ในกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ด้วยการใช้วิธีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หลักการของการลดระยะเวลากักตัวโรคในสถานกักกันโรคจากเดิม 14 วัน ให้น้อยลงเหลือ 7 วัน ตนเสนอให้มีการตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันโรค ด้วยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ เพียง 0.3 – 0.5 ซีซี ส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เวลาตรวจในห้องปฎิบัติการ(แล็บ) 3 ชั่วโมง เพื่อค้นหาหลักฐานการติดเชื้อของผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการป่วยทั้งเบาและรุนแรง หากผลเลือดเป็นลบ หมายถึงไม่มีการติดเชื้อ แต่หากมีผลเป็นบวก หมายถึงมีการติดเชื้อและจะต้องเก็บสิ่งส่งตรวจในโพรงจมูกด้วยวิธี RT-PCR เพื่อหาว่าเชื้อนั้นแพร่ออกมาได้หรือไม่ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ พร้อมรองรับการตรวจเลือดประมาณ 5,000 ตัวอย่างต่อวันและสามารถยกระดับการตรวจได้กว่า 10,000 ตัวอย่างต่อวัน ในราคา 1,000 บาทต่อครั้ง โดยตนย้ำว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนี้ แต่ที่ต้องประกาศจุดยืนเพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่น เข้ามาหากำไรในการตรวจ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนเสนอให้มีการทดลองหลักการดังกล่าวว่าจะสามารถลดเวลาเหลือ 7 วันได้หรือไม่ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่า 1,000 รายที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยตลอดเดือนตุลาคม และต้องกักตัว 14 วันเต็มตามมาตรการเดิม โดยทำการเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันและเก็บสิ่งส่งตรวจในโพรงจมูกด้วยวิธี RT-PCR แบบเดิมควบคู่กันไป รวม 3 ครั้งในเวลา 14 วัน คือ วันที่ 0 คือวันแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทย วันที่ 7 และวันที่ 14 คือวันสุดท้ายของการกักกันโรค เมื่อผ่านพ้นเดือนตุลาคมไป หากพบว่า ผลตรวจเลือดเจอเชื้อได้ในวันที่ 7 วันและไม่เจอเชื้อในวันที่ 14 เลย ก็สามารถบอกได้ 100% ในระยะต่อไปก็สามารถลดลงมาเหลือ 7 วัน เจาะเลือดตรวจหาเชื้อในวันที่ 0 และ 7 ของการกักตัว โดยการตรวจ 2 ครั้ง หากมีครั้งใดที่ผลเลือดเป็นบวก ก็จะต้องส่งตัวเข้าระบบการกักกันโรคที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 14 วัน เนื่องจากต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการ RT-PCR จนกว่าเชื้อจะหมดจากร่างกาย เว้นแต่ว่าผู้นั้นเคยมีประวัติการติดเชื้อและมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ารักษาหายแล้ว ซึ่งจะให้ผลเลือดเป็นบวก เพราะเป็นหลักฐานว่าเคยมีการติดเชื้อ ที่จะอยู่ในร่างกายประมาณ 20-40 วัน

“เดือนธันวาคม นักท่องเที่ยวก็เข้ามาอย่างสบายใจได้ โดยมีระยะเวลาในการกักตัว 7 วันและตรวจแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ถ้าหากเป็นเจาะเลือดเป็นลบแล้ว 2 ครั้ง ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่หากกลัวจริงๆ คือ ในวันที่ 7 ของการกักตัว ถึงแม้เจาะเลือดให้ลบแล้ว ก็สามารถแยงจมูกตรวจ RT-PCR ด้วยก็ได้ โดยการเจาะเลือดตรวจด้วยราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับการแยงจมูกที่ราคาสูงกว่าและนอกเหนือจากนั้น คือใช้อุปกรณ์มากกว่า ดังนั้นหากใช้การเจาะเลือดตรวจก็จะตอบโจทย์ได้โดยที่อาจจะไม่รบกวนงบประมาณในการแยงจมูก และสามารถลดระยะเวลาการกักตัวได้ ทั้งยังช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล ในการดูแลคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและต้องเข้าสถานกักกันโรคนานถึง 14 วันได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าในเดือนตุลาคมนี้จะมีการทดลองดังกล่าวหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนได้เสนอการนำวิธีเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้เดินทางเข้าประเทศไทยที่เข้าพักในสถานกักกันโรค(Quarantine) ตลอดเดือนตุลาคม ที่ประชุมนักวิชาการ สธ. มีความเห็นว่าจะตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ประกอบการ และส่วนพื้นที่ เพื่อรับทราบขั้นตอน และทราบเส้นทางเม็ดเงินที่เข้ามาจะต้องเข้าถึงชุมชนในพื้นที่ กระจายรายได้ออกไป ไม่ใช่การเปิดประเทศเพื่อประโยชน์ของนายทุนผูกขาด