การระบาดใหญ่ทำเศรษฐกิจเอเชียโตต่ำสุดกว่าช่วงปี 1967 ชี้ 38 ล้านชีวิตต้องกลับไปยากจน

วันที่ 29 กันยายน 2563 รอยเตอร์สรายงานว่า ธนาคารโลก ได้รายงานสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นคาดว่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงจีน โตต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี และวิกฤตการณ์นี้จะทำให้ประชาชนภูมิภาคนี้ราว 38 ล้านคนต้องถูกผลักกลับไปอยู่อย่างยากจน โดยปีนี้ ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 0.9% เป็นอัตราเติบโตต่ำนับตั้งแต่ปี 1967 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการลดค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิ่ง

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้อยู่ที่ 2% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกที่ยังเข้มแข็งอยู่และอัตราการระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ลดลงตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็หดลงจากอัตราการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกกล่าวว่า ในส่วนที่เหลือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะหดตัว 3.5% รายงานได้ชี้ว่า การแพร่ระบาดและความพยายามที่จะควบคุมการแพร่กระจายทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ “ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”

“ความยากลำบากที่ประเทศเหล่านี้เผชิญ เกิดขึ้นจากภาวะถดถอยทั่วโลกที่การระบาดของโควิดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ EAP (เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก) ที่พึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยวอย่างหนัก” รายงาน ระบุ

ธนาคารโลกได้เสนอว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปการคลังเพื่อสร้างรายได้เพื่อใช้ตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงินจากการระบาดใหญ่ และการมีนโนบายโครงการคุ้มครองทางสังคมเพื่อช่วยสนับสนุนแรงงานรวมตัวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประเทศที่มีนโยบายคุ้มครองทางสังคมที่จัดการดีและโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินดีก่อนเกิดโควิด จะสามารถขยายระดับช่วยเหลือได้เร็วในช่วงเกิดการระบาด

นอกจากนี้ ธนาคารโลกระบุว่า โรคระบาดและความพยายามในการควบคุมโรคนั้นส่งผลใหเกิดการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โรคระบาดที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ส่งผลให้สถานการณ์ความยากลำบากในประเทศนั้นมีมากขึ้นโดยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค EAP ซึ่งพึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ผลลัพธ์ของประเทศนั้นๆ ขึ้นอยู่กับว่าการควบคุมโรคของประเทศนั้น สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนและประเทศได้รับผลกระทบมากแค่ไหนจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญภายนอก ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ประเทศจีนมีผลผลิตที่หดตัวลงถึงร้อยละ 1.8 และโดยเฉลี่ยหดตัวลงร้อยละ 4 ในประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ เหตุการณ์โควิดมีแนวโน้มที่จะทำให้ประชากรตกอยู่ในความยากจนเพิ่มขึ้น 38 ล้านคนในปี 2563 รวมถึงประชากรอีก 33 ล้านคนที่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้หากไม่เกิดเหตุการณ์โควิดและอีก 5 ล้านคนที่จะถูกผลักดันกลับเข้าสู่ความยากจนโดยใช้เส้นแบ่งความยากจนที่อัตรา 5.50 ดอลลาร์ ต่อวัน

วิคตอเรีย ควาควา รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคของธนาคารโลกกล่าวว่า ภูมิภาคนี้ได้เผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่เคยพบมาก่อน แต่มีตัวเลือกทางนโยบายอันชาญฉลาดที่สามารถลดการแลกเปลี่ยนเหล่านี้ได้ เช่นการลงทุนในการทดสอบและความสามารถในการติดตามและขยายการคุ้มครองทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อครอบคลุมคนจนและแรงงานนอกระบบ

สำหรับประเทศไทย ธนาคารโลกระบุว่า ไทยเป็นประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงฟิลิปปินส์และหมู่เกาะในแปซิฟิคที่พึ่งพาการส่งออกด้านการบริการได้รับผลกระทบจากการเดินทางและท่องเที่ยวมาก โดยจีดีพีไตรมาส 2 ของปีนี้ ติดลบกว่า 8% ซึ่งถือว่าถดถอยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออก ถึงกระนั้นไทยซึ่งมีนโยบายคุ้มครองทางสังคมที่ดี เช่นเดียวกับหลายประเทศรวมทั้งจีนและมาเลเซีย จึงสามารถขับเคลื่อนนโยบายเพื่อตอบสนองรับมือได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ภาวะช็อกจากโควิด-19 ที่ส่งผลหลายอย่างทั่วภูมิภาค โดยในส่วนของไทยนี้ รายงานระบุว่า การฟื้นตัวของหลายประเทศจากโควิดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก มาเลเซียและไทยมีระบบสุขภาพที่แข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับการระบาดในอนาคต แต่สำหรับประเทศไทยเช่นกัน มีความเสี่ยงมากเพราะประชากรกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้นและสภาพความเป็นอยู่หนาแน่นขึ้น ปัจจัยภายนอกคือการประสบความยากลำบากจากการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในการจัดหาเงินทุนภายนอก นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเพิ่มสูงขึ้นในมาเลเซียและไทยก็เป็นอีกปัจจัย ที่ทำให้การฟื้นตัวของ 2 ประเทศ มีแนวโน้มช้ากว่าจีนและเวียตนาม