‘พ.ต.อ.ทวี ‘ ลั่นต้องตั้ง ส.ส.ร.แก้รธน 60 ชี้เป็นผู้จัดทำดีที่สุด

‘พ.ต.อ.ทวี ‘ ลั่นต้องตั้ง ส.ส.ร.แก้รธน 60 ชี้เป็นผู้จัดทำดีที่สุด แนะทำประชามติภายหลังจากผ่านวาระสาม

เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) กล่าวว่า ตามที่วุฒิสมาชิกหลายท่านอภิปรายว่า การแก้ไข รธน 60 โดยตั้งสภารางรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร หรือแก้ไขทั้งฉบับนั้น จะต้องทำประชามติเสียก่อน เพราะ รธน 60 ได้ผ่านการประชามติมา โดยอ้าง คำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 18-22/2555 เมื่อ 13 กรกฎาคม 2555 ที่ขณะนั้นเป็นการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ที่ได้ถูกยกเลิกไปจากผลการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในประเด็นการทำประชามติได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญปี 60 แล้วตามมาตรา 256 (8) คือ เมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบวาระ 3 แล้ว ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียง ประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนำ ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ซึ่งอยู่ในหมวด 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้ทำประชามติ แต่ทำหลังจากรับหลักการวาระ 1 วาระ 2 และมีมติเห็นชอบตามวาระ 3 แล้วจึงจะทำประชามติ และเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่เป็น ส.ส.ร. นั้น รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 25 ได้คุ้มครองไว้เป็นหลักการ คือ “การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ” ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้พบว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาต้องแก้ไขเกือบทั้งฉบับ โดยส่วนตัวเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีความ “ไม่พอดี” และ “ไม่สมดุล” ทั้งในด้านโครงสร้างอำนาจ กลไก และมาตราการในการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ ทรัพยากร และความยุติธรรม ทั้งมีที่มาของ รธน. ที่เกิดจากคำสั่ง คสช กระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและถูกครอบงำ แม้จะอ้างว่ามีการลงประชามติรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เป็นการประชามติที่ประชาชนรณรงค์ไม่เห็นด้วยถูกจับกุม ขาดเสรีภาพ เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในด้าน “เนื้อหารัฐธรรมนูญ” หลายส่วนขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เพราะคณะรัฐประหารและผู้ร่างไม่ไว้ใจประชาชน จึงมีอคติที่มีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญ ที่สร้างโครงสร้างอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ วุฒิสภา และโครงสร้างอำนาจรัฐ มีพลังอำนาจสูงสุด ผู้ดำรงตำแหน่งล้วนมีที่มาจากระบบการแต่งตั้งจากระบบราชการ กองทัพ และฝ่ายตุลาการ ที่มีอำนาจมากและปราศจากการตรวจสอบจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญ 60 เน้นการสร้างระบบรัฐราชการหรือรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง ไม่ได้บัญญัติเรื่อง “กระจายอำนาจ” และยังกำหนดเรื่อ ความมั่นคงของรัฐเหนือความมั่นคงของปวงชน แม้บางเรื่องให้สิทธิเสรีภาพแต่อยู่ภายใต้ “ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” หรื่อเป็นอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายบริหารอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพและกฏหมาย เพราะรัฐธรรมนูญรับรอไว้เลย สิทธิเสรีภาพอื่นที่บัญญัติไว้แต่ต้องเป็นไปตามที่ “กฎหมายบัญญัติ” หรือ “เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” แทบทั้งสิ้น

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ใน ‘บทเฉพาะกาล’ ที่เป็นมรดกของ คสช. ถือเป็นรัฐธรรมนูญซ้อนอีกฉบับที่เป็นการ ‘รัฐประหารเงียบ’ เพราะปกติ บทเฉพาะกาล เป็นที่บัญญัติให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งหรือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับกฎหมายนั้น แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 60 ได้บัญญัติให้ ‘สมาชิกวุฒิสภา’จำนวนเป็น 250 คนมาจากการเลือกของคณะ คสช. มีกำหนด 5 ปี กำหนดภารกิจพิเศษ คือ เลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นตำแหน่งฝ่ายบริหารสูงสุด และมีอำนาจในการกำกับการปฏิรูปประเทศ ได้ถึง 2 สมัย เป็นเวลา 8 ปี หรือกำหนดชะตากรรมของประเทศถึง 8 ปี และในกรณีกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอหากคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างกฎหมายใดเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้เป็นการพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมของ ‘รัฐสภา’ จะมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงเข้าพิจารณาทำให้ คสช สืบทอดมรดกได้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัญญาวิกฤติของประเทศขณะนี้ ทั้งปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และปัญหาคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ยากไร้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นภาครัฐและเอกชนอย่างรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และปัญหาอื่นๆที่ร้ายแรงในสังคม รวมถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงปลายเหตุ เพราะต้นเหตุของปัญหาบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ต้องเชื่อมันในความคิดและปัญญาของประชาชน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดและเป็นแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุ คือ ประการแรก เกิดจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ประการที่สอง คือ ต้องให้มีการกระจ่ายอำนาจ งบประมาณ และทรัพยากรลงไปสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในอนาคตของตัวเองได้ นี่คือกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย ประการที่สามคือ ต้องมีความยุติธรรม เกิดมาเป็นมนุษย์จะยากดีมีจน มีฐานะร่ำรวยหรือยากจนแต่ค่าของชีวิตเท่ากันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความรักความสามัคคีก็คือการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้จงได้ ประการที่สี่คือต้องมีการปฏิรูป คำว่าปฏิรูปในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยกระบวนการสันติและประชาธิปไตย