“นิกร”เผยรัฐบาล-ส.ว.ต้องช่วยกันแบก ตั้งกมธ.แก้รัฐธรรมนูญไม่ครบ3ฝ่าย

วันที่ 27 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 กันยายนนี้ จะมีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ นัดแรกวันที่ 30 กันยายน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกมธ. กล่าวเมื่อวันที่ 23 กันยายนถึงการประชุมนัดแรกวันที่ 30 กันยายนว่า แม้กมธ.ไม่ครบ 3 ฝ่ายตามข้อบังคับฯ เพราะฝ่ายค้านขอไม่ร่วม แต่เป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลกับส.ว.ต้องช่วยกันแบกไว้ การชะลอไว้แค่ 30 วันอาจไม่ใช่การเตะถ่วง แต่เป็นการยืดลมหายใจของสถานะการณ์ออกไป เพื่อมาคุยกันให้เข้าใจว่า จะเอากันอย่างไร เพราะเหตุผลที่ส.ว.ท่านหนึ่งอภิปรายมาก็มีเหตุผล เพราะ 4 ร่างแก้ไขรายมาตราที่พรรคฝ่ายค้านเสนอด้วย อาจจะมีหลักการซ้ำซ้อนกับร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จนอาจมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ เพราะการแก้ไขโดยส.ส.ร. สามารถแก้ไขในส่วนอื่นๆที่เป็นเนื้อหาอีก 4 ร่างได้อยู่แล้ว ดังนั้น การเบรกเรื่องนี้ไว้เพื่อคุยกันในชั่งโมงสุดท้ายที่ส.ว.มีท่าทีที่จะไม่รับนั้น เพื่อยืดเวลาก่อนที่จะล้มเหลวไปตามที่ นายวิช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลเสนอก็มีเหตุผล เพราะถึงอย่างไรเรื่องนี้เป็นไฟต์บังคับของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องโหวตเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีส.ส.ร.ตามที่ลงชื่ออยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้

นายนิกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่ต้องไปอธิบายให้ส.ว.เข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศที่มีความน่าเป็นห่วงมากว่าจะหนักถึงขั้นเป็นสถานการณ์วิกฤต เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้มีเชื้อจากหลายเรื่องซ้อนกันอยู่ มีเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐแล้ว อาจจะทำให้ประเทศไทยทรุดลงกับพื้นเลยก็ได้ โดยเฉพาะการชุมนุมคนรุ่นใหม่นัดในวันที่ 14 ตุลาคม จะไม่ได้มีแค่ม็อบคนรุ่นใหม่เท่านั้น หากแต่จะรวมเอาผู้คนฝ่ายประชาธิปไตยมาด้วยมาก แต่ถ้ารัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขไปบ้าง ความกดดันในเรื่องต่างๆจะลดลง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรจะมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนถึงเวลาจะเกิดเรื่อง เพราะกมธ.สามารถตัดสินใจได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะไม่ใช่เรื่องต้องศึกษาอะไรกันแล้ว เพียงแต่ไปคุยว่า จะทำหรือไม่ทำอะไร เป็นสถานการณ์ทางการเมืองล้วนๆ ส่วนตัวยังมีความหวังว่าจะคุยกันได้ เพราะถ้าเป็นการหยุดเพื่อต่อลมหายใจ ทำความเข้าใจกันก่อนตกเหวไป เหตุการณ์จะคลี่คลาย เพราะทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ทั้งหมดจึงถือเป็นความรับผิดชอบของสภาฯโดยแท้ หากไม่รีบตัดสินใจ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเรื่องที่เราแบกรับกันไม่ไหว ทั้งรัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารประเทศและวุฒิสมาชิกผู้ยังลังเลอยู่จะปฏิเสธความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้