‘ฟอร์ด ทัตเทพ’ ซัดสภา ผลักปชช.ลงถนน ขีดเส้นตาย ส.ว. เตรียมชุมนุมเบิ้ม ต.ค.นี้

‘ฟอร์ด ทัตเทพ’ ย้อนเส้นทางต่อสู้ ซัด ‘สภา’ ผลักให้ปชช.ลงถนน ขีดเส้นตาย ส.ว. ’30 ก.ย.’ ก่อนชุมนุมเบิ้มตุลานี้

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดกิจกรรม ตลาดนัด “งานสภากับประชาชน” โดยมีเวทีเสวนา มินิคอนเสิร์ต และการออกร้าน

เวลา 13.40 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “เยาวชนกับการเมือง” นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำเยาวชนปลดแอก กล่าวถึงเหตุผลที่มาทำกิจกรรมทางการเมือง ว่า มี 2 ส่วน คือ

1.แรงกดทับทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 6 ปีนี้ว่าหนัก แต่สังคมเราถูกกดทับมานานด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม นับ 100 ปี เยาวชนถูกกดทับการแสดงออก ไม่สามารถพูดสิ่งที่คิดอย่างเต็มที่ โดยดำเนินคดี เราเกิดในยุคที่เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ ไม่รู้ว่าอีก 5-10 ปี เราจะไปอยู่ตรงไหน จะลืมตาอ้าปาก ในสังคมแบบนี้ได้หรือไม่ เราเติบโตมาในสังคมวัฒนธรรม แบบอำนาจนิยม การใช้อำนาจ กดทับ ใช้ความรุนแรงแต่เด็ก บางคนถูกเฆี่ยนตีอย่างหนัก ระบบการศึกษาไทยตัวดี 6 ปีนี้ยิ่งชัดเจน เมื่ออยู่ใต้โครงสร้างเผด็จการ

2.การเกิดในครอบครัวที่เสียเปรียบในระบบทุนนิยม สวัสดิการไม่ถ้วนหน้า ทั่วถึง พ่อแม่ต้องดิ้นรน แทบไม่มีเวลาพักผ่อน หรืออยู่ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่สะสมและทำให้เราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ เราไม่อยากส่งต่อบ้านเมืองที่มืดมนเหลือเกินให้กับลูกหลาน จึงออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวในวันนี้

“ตั้งแต่แรกที่มาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เราโตในยุคที่การเมืองเข้มข้น แบ่งขั้วอุดมการณ์ชัดเจน ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมปี 56-57 เมื่อไปอ่านหนังสือ จึงตัดสินใจเรียนรัฐศาสตร์ ครั้งหนึ่งมีการจัดงานที่มหาวิทยาลัย เชิญ โจชัว หว่อง (นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง) มาร่วมเวที ปรากฏว่า เขาเข้าประเทศไม่ได้ เพราะ ตม.ไม่ให้เข้า ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นั้นเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสอำนาจรัฐโดยตรง จากนั้นเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองไปด้วย เริ่มจากในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ปี 2 ได้รับเลือกเป็น สภานิสิตฯ 2 เดือน เด้ง เพราะเราไม่เอาประเพณีที่ส่งเสริมการเป็นทาส เช่น การหมอบกราบ จึงถูกเด้งจากตำแหน่ง จากนั้น ลงถนน เห็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ไปชุมนุมด้วย บางทีเอาของไปขายบ้าง ซึ่งคนอยากเลือกตั้งได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ว่าการเผชิญหน้าเป็นอย่างไร การเรียกร้องบนท้องถนน ผลเป็นอย่างไร” นายทัตเทพเผย และว่า

หลังมีการเลือกตั้ง ได้ตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อ พ.ย.62  เดิมทีอยากให้เป็นองค์กร ผลักดันประเด็นเกี่ยวกับเยาวชน เพราะมีจำนวนมาก แต่อำนาจน้อยมาก จึงต้องมีพื้นที่เป็นปากเสียง รณรงค์ออนไลน์ โพสต์เนื้อหาวิจารณ์รัฐ หลังโควิด มีแคมเปญออนไลน์ คืนค่าเทอมให้นักศึกษา เพราะตอนนั้นทุกคนกระทบหมด นักศึกษาที่ทำงานหาเลี้ยงชีพก็กระทบ มหาวิทยาลัยปิด ต้องมาเรียนออนไลน์ เสียค่าน้ำค่าไฟที่หอตัวเอง จึงควรได้รับสิทธิเยียวถ้วนหน้า ซึ่งประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลายมหาวิทยาลัยก็ตอบรับ

จากนั้นเคลื่อนไหวหน้ากระทรวงการคลัง ทวงการเยียวยาถ้วนหน้า 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกัน คือทิ้งไปเยอะมาก ทุกคนได้รับความเดือดร้อนทั้งสิ้น ดังนั้น ต้องเยียวยาถ้วนหน้าอย่างทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลทำไม่ได้

นายทัตเทพกล่าวว่า ต่อมามีการอุ้มหาย เราจึงไปชูป้าย ซึ่งนั่นคือคดีแรกของผม ถือเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะนายกฯ บอก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ใช้เพื่อสกัดการชุมนุม แสดงว่านายกฯโกหก แบบนี้ใช้ไม่ได้

จากนั้นได้อ่านประกาศคณะราษฎร ที่ ปทุมวัน 88 ปีผ่านมาแล้ว เนื้อหาประกาศของคณะราษฎรไม่เคยเก่า แค่เปลี่ยนวันที่และเวลา แต่สถานการณ์เหมือนเดิม ผ่านมาไม่กี่วัน หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอีกแล้ว แพคเกจ 3 ข้อหา

“เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม เยาวชน 6 คน ฉายไฟที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นเราเห็นแล้วว่าทุกอย่างมืดเหลือเกิน ความเป็นเผด็จการนี้เริ่มจากโครงสร้างสูงสุด คือ พานรัฐธรรมนูญ 1 นาที 2 วินาที กำลังจะกลับบ้าน ตำรวจจราจร 2-3 คนมาหา ถาม ‘ทำอะไร’ ‘มาฉายไฟจ้า’ ถามว่าได้ขึ้นตัวอักษรอะไรไหม ‘ไม่มี แค่ไฟ’ เขาก็ไป แต่ระหว่างเดินไปทางวัดบวรนิเวศวิหาร หาแท็กซี่กลับบ้าน ตำรวจยศพันตรีขับตามรถมาขวางเรากับแท็กซี่ บอก ‘คุยกันก่อนเรื่องภัยความมั่นคง’ 4 ไฟฉาย และแฟลชโทรศัพท์ 1 อัน แม่เจ้า ภัยความมั่นคง 1 ชั่วโมงกว่าจะได้กลับ และขับตามเราตลอดทาง สืบทะเบียนรถแล้วพบว่าเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คือการถูกคุกคาม นี่เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยจริงหรือไม่

หลังจากนั้น ฟางเส้นสุดท้าย  ‘วีไอพี ที่ระยอง’ คือการปล่อยปะละเลย รัฐบาลบอก ‘การ์อย่าตก’ ประชาชนอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์ แต่กลับปล่อยให้มีเคสนี้ เราคิดว่าต้องยกระดับ จึงนัดชุมนุม 28 กรกฎาคมเป็นต้นมา คือครั้งแรกที่มีคนมามาก และจากนั้นขยายไปทั่วประเทศ ที่ตามมาคือหมายจับ เขาบอกเราไปยุยงปลุกปั่น กระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผมเรียนมา คือ นี่คือการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การที่เราไปเรียกร้องเป็นสิทธิ เพราะรัฐธรรมนูญมีปัญหา จึงต้องยุบทั้งฉบับ จากนั้นยุบสภาให้มีรัฐธรรมนูญใหม่จากความต้องการเรา นี่คือความต้องการของเรา แต่หาว่าเรายุยงปลุกปั่น

“เรารู้ว่าการยัดข้อหาของภาครัฐมีจุดประสงค์เพื่อปรามไม่ให้เคลื่อนไหว ซึ่งเราต้องไม่ทำให้เขาบรรลุวัตถุประสงค์ จนวันหนึ่งเขาต้องหยุดวิธีนี้แล้วรับฟังเรามากขึ้น เราเชื่อเสมอว่าสิ่งที่พวกเราทำไม่ผิด ไม่ได้ก่อความรุนแรง ไม่ได้ทำให้คนยากเจ็บล้มตาย อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด เราต้องยืนยันในจุดยืน กรกฎาคมเราอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คนส่วนใหญ่มองเห็นเป็นเพียงแค่กระดาษเปื้อนหมึก ไม่มีใครสนใจ มีแต่โห่ไล่ตำรวจออกไป จึงมีคนเริ่มตั้งคำถามกับกฎหมายพวกนี้ มีการรณรงค์ว่าต้องแก้ไข เพราะปัญหาการใช้กฎหมาย อยู่ที่การบังคับใช้ ส่วนตัวมองเป็นแค่ครึ่ง เพราะเนื้อหาก็วิปริตเช่นกัน

ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะตัดสินใจออกมา เดือนกรกฎาคม รัฐบาลและรัฐสภาไร้ประสิทธิภาพ เราแทบไม่มีช่องทางในการต่อสู้ โครงการสร้างรัฐสภาที่บิดเบี้ยว เราจึงออกมาให้ตรงและตอบสนองเรา เราหวังอย่างมาก จนถึงวันที่ 24 การแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.กำลังจะผ่านแล้ว เราคาดหวังมาก แต่ก็ผิดหวัง การตั้ง กมธ.ยืดเวลา เป็นการปิดสมัยที่อัปยศที่สุด ทำไมจึงปิดประตูหนีประชาชน เขากำลังจะผลักให้ประชาชนลงถนนเท่านั้น ถ้าในอนาคตประตูรัฐสภาไม่ใช่ทางออก ก็มีแต่ท้องถนนที่เราต้องออกมาสู้ รอพ้นเดดไลน์ 30 กันยาที่เราเสนอ ส.ว.ออกไป 269-272 ต้องถูกลบออกไป ทำไมไม่มีญัตติยกเลิกข้อนี้ หาก 30 ก.ย. หากยังไม่มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เราจะยกระดับการชุมนุมแบบใหม่ๆ ในเดือนตุลาคมอย่างแน่นอน ประชาชนไม่มีอำนาจรัฐ มีแค่ 1 สมอง สองมือ ขอให้ติดตามผ่านเพจ คณะประชาชนปลดแอก พบกันเดือนตุลา”

“การต่อสู้เรายาวนานแต่คุ้มค่า ไม่ใช่แค่ประชาชน เยาวชน นิสิต นักศึกษา แต่ยังลึกไปถึงมัธยมต้น การเติบโตจะเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ อำนาจนิยมไม่สามารถผูกขาดความคิดได้อีกแล้ว นั่นหมายความว่าเวลาอยู่ข้างเรา การต่อสู้วันนี้คือการเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเร็วขึ้น อยากให้ช่วยกันเผยแพร่ความคิดนี้ว่า ประเทศเรามีปัญหาหลายเรื่องที่ร้อยเรียงกัน การจะแก้ไขปัญหานี้ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐ แล้วอะไรให้อำนาจรัฐ คือรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.ผู้ร่างต้องมาจากประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ยอมให้ล็อกหมวดใดหมวดหนึ่ง รัฐสภามีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกประชาชน หากล็อกหมวดใดไม่ให้แก้ ถือว่าไม่จริงใจกับประชาชน ขอให้ต่อสู้ รัฐธรรมนูญใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว” นายทัตเทพกล่าว