“ธำรงศักดิ์” ชี้รัฐบาลจงใจยื้อเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ไว้ท้ายสุด จี้ต้องจัดพร้อมกันใน ธ.ค.นี้

วันที่ 26 กันยายน 2563 ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตและผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง อปท.ทุกระดับจนถึงเขตบริหารพิเศษที่เลื่อนออกไป ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อเจตนาของรัฐบาลจะยื้อการเลือกตั้งท้องถิ่นรวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯเพียงเพื่อรักษาอำนาจรวมศูนย์ไว้กับตัวเองหรือไม่

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่มีออกมาว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแบ่งออกเป็นสามช่วงด้วยกัน โดยช่วงแรกจะให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภา อบจ. ก่อนในกลางเดือนธันวาคมปีนี้ ช่วงที่สองถัดไป ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะจัดให้มีการเลือกตั้งนายเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภา อบต. ช่วงที่สาม ราวปลายเดือนเมษายน 2564 จะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภา กทม. รวมทั้งนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาฯ

“การที่ตนเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งโดยเร็วนั้น เพราะมีการตั้งข้อสงสัยว่าการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่สืบทอดอำนาจรัฐประหารนั้นเลือกที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯและสมาชิกสภากรุงเทพฯอยู่ช่วงท้ายสุด ซึ่งในความเป็นจริงกรุงเทพมหานครมีความสำคัญต่อประเทศมาก มีปัญหาที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่หมักหมมมานานจากการแช่แข็งเลือกตั้งของคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมขังฉับพลัน ปัญหาการจราจร ปัญหาฝุ่นมลพิษ ปัญหาการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าในยุคภัยพิบัติโควิดที่ต้องเอาเศรษฐกิจของประชาชนเป็นปัจจัยในการรับมือกับปัญหานี้ด้วย เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องการผู้ว่ากรุงเทพฯที่มาจากเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง ผู้ว่ากรุงเทพฯคนนั้นและทีมงานจึงจะมีจิตใจและแรงกายที่จะทุ่มเทแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ให้ผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อประชาชน แต่การที่รัฐบาลยังจะยื้อการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ออกไปอีกนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์อาจมีดีลทางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯที่ซุกซ่อนไว้ที่เรายังไม่รู้ จึงต้องรอเวลาให้เลือกตั้งกรุงเทพฯเลื่อนออกไปอีกนาน หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่า การยื้อเวลาออกไปนานจนจะครบ 7 ปีการรัฐประหารของ คสช. นั้น อาจเพื่อรอจังหวะเวลาหรืออุบัติเหตุทางการเมืองเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพราะเจตจำนงของฝ่ายรัฐประหารคือการรักษาอำนาจการเมืองและผลประโยชน์ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยเฉพาะศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมเช่นกรุงเทพฯ ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหารจึงต้องการที่จะให้มีการแต่งตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครสืบต่อไปมากกว่า” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ยังได้แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์คืนอำนาจให้กับประชาชนกรุงเทพฯที่มีราว 6 ล้านคน และประชาชนทั้งประเทศ 66 ล้านคน โดยจัดเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ รวมทั้งนายกเมืองพัทยา พร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด ในเดือนธันวาคมปี 2563 นี้ หรือจะดีมากหากจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. สักหนึ่งสัปดาห์

ทั้งนี้ ฝ่ายทำรัฐประหารควรได้รับการกล่าวประณามอย่างรุนแรงด้วยว่า การแช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำลายความเจริญมั่งคั่งของท้องถิ่นและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนลงไปอย่างน่าเสียใจยิ่ง