สวิสจ่อลงประชามติ สกัดผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ฉีกข้อตกลงกับอียู-เคลื่อนคนเสรี

วันที่ 23 ก.ย. รอยเตอร์ รายงานว่า วันอาทิตย์ที่ 27 ก.ย. พลเมืองสวิตเซอร์แลนด์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงประชามติเพื่อตัดสินใจว่า ประเทศจะฉีกข้อตกลงกับ สหภาพยุโรป หรือ อียู ว่าด้วย การเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเสรี หรือไม่ ภายหลังที่พรรคการเมืองรัฐบาลที่รณรงค์การลงประชามติเผยความแตกแยกในสังคมจากชาวต่างชาติที่คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรสวิตเซอร์แลนด์

พรรคการเมืองฝ่ายขวาอย่าง พรรคประชาชนสวิส (เอ็สเฟาเพ: SVP) ผู้ครองเสียงมากสุดในรัฐสภา เป็นผู้เดินหน้ากลับมาควบคุมการโยกย้ายถิ่นฐาน สะท้อนถึงการถกเถียงของนักการเมืองที่สนับสนุนการถอนตัวจากอียูของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิต

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนโดย เกเอ็ฟเอ็ส.แบร์น (gfs.bern) ชี้จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คัดค้านข้อเสนอของเอ็สเฟาเพ และสนับสนุนเพียงร้อยละ 35 สะท้อนว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต้องการเสถียรภาพในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

แต่ถึงอย่างไร เอ็สเฟาเพหวังดึงดูดฐานเสียงจากผู้เห็นความเสี่ยงต่อวัฒนธรรมสวิตเซอร์แลนด์จากการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่อาจทำให้ประชากรเพิ่มจาก 8.6 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน ในปี 2593 ระบุว่า ตำแหน่งงานต่างๆ จะได้รับผลกระทบเนื่องจากชาวต่างชาติหนุ่มสาวเข้ามาแทนที่ชาวสวิสสูงวัย ที่อยู่อาศัยเริ่มขาดแคลนและแพงขึ้น โรงเรียนและการคมนาคมแออัด และการก่อสร้างต่างๆ กลืนภูมิทัศน์ของประเทศ

“ผู้อพยพเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของเรา ลานสาธารณะ รถไฟ และถนนเริ่มไม่ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้รับสวัสดิการเป็นชาวต่างชาติ” เว็บไซต์รณรงค์การลงประชามติของเอ็สเฟาเพระบุ

ขณะที่ฝ่ายค้านว่าแผนดังกล่าวจะช่วงชิงธุรกิจคนงานมีทักษะ โดยเฉพาะในด้านการดูแลสุขภาพ หรือบริษัทผู้ผลิตยาอย่าง ฮอฟฟ์มันน์-ลา โรช และ โนวาร์ติส และข้อตกลงต่างๆ ที่ยกระดับการเข้าถึงตลาดเดียวสำคัญของอียู

การทะลักเข้ามาสวิตเซอร์แลนด์ของชาวต่างชาติเห็นได้ชัดจากสโมสรฟุตบอล อุสเทอร์ ซึ่งร้อยละ 60 ของนักเตะวัย 13-14 ปี มาจากลูกครอบครัวผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ในจำนวนร้อยละ 60 มาจากชาติ อียู และ เขตการค้าเสรียุโรป (อีเอฟทีเอ) คือ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และ ลิกเตนสไตน์ ทั้งหมดร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือมาจากกลุ่มประเทศบอลข่าน แอฟริกา และตะวันออกกลาง

อาลี เอิซจัน เจ้าหน้าที่สโมสร ซึ่งมีพ่อแม่เป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากตุรกี กล่าวว่า หากไร้ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ฟุตบอลสวิตเซอร์แลนด์โดยภาพรวม ที่มีนักเตะชายหญิงทั้งมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพ จะไม่สามารถอยู่ได้ และว่า ผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามายุโรปมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการพัฒนาสติปัญญาของเด็กและมักวางแผนกลับบ้านเกิดหลังอาศัยอยู่สวิตเซอร์แลนด์

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเคลื่อนย้ายเสรีในปี 2545 ถึงล่าสุดปี 2562 สวิตเซอร์แลนด์มีประชากรเพิ่ม 1.3 ล้านคน มาจากการโยกย้ายถิ่นฐาน 1 ล้านคน และในจำนวนนี้ 750,000 คน มาจากยุโรป

พลเมืองอียูและสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรป (EFTA) คิดเป็นร้อยละ 68 ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2562 อิตาลี เยอรมนี และโปรตุเกส มีชุมชนในสวิตเซอร์แลนด์เยอะสุด ขณะที่ชาวสวิตเซอร์แลนด์มากกว่า 450,000 คน อาศัยอยู่อียู

สวิตเซอร์แลนด์ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานเนื่องจากงานรายได้สูง รวมถึงงานที่คนในชาติแทบไม่ต้องการทำ แต่พรรครัฐบาลพยายามจำกัดการเคลื่อนย้ายเสรี รวมถึง การริเริ่มการโยกย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ (Mass Immigration Initiative) ของปี 2557 ที่อนุมัติโควตาการโยกย้ายถิ่นฐานจากอียู แม้สุดท้ายจะต้องผิดหวังเนื่องจากรัฐสภาไม่เห็นชอบ

เมื่อปี 2552 ชาวสวิสลงคะแนนเสียงตัดสินใจห้ามก่อสร้างสุเหร่าแห่งใหม่ สะท้อนถึงความระแวงของชาวสวิสต่อชุมชนมุสลิม และกรณีที่นักเรียนมุสลิมปฏิเสธจับมือทักทายกับครูผู้หญิงสร้างไม่ความพอใจต่อสังคมและกลายเป็นรายงานข่าวในสื่อ