สรรพากร คาดเศรษฐกิจปี’63 ติดลบ 8.1% แนะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

กรมสรรพากร คาดจีดีพีปีนี้ ติดลบ 8.1% ชี้ “ว่างงาน-หนี้เพิ่ม-ความผันผวนตลาด” ท้าทายเศรษฐกิจระยะสั้นหลังยุคโควิด แนะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพิ่มศักยภาพคนไทย รับต่างชาติใช้ฐานการผลิต

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยเมื่อวานนี้ (24 กันยายน 2563) ว่า แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจไทย หลังโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา โดยก่อนปี 2540 ขยายตัวสูงสุดถึง 7% แต่หลังจากปี 2540 ที่ประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง ขยายตัวสูงสุด 3% โดยคาดว่าในปี 2562 นี้ จะติดลบ -8.1% เนื่องจากโควิดเข้ามาทำให้ศักยภาพในการผลิตได้รับผลกระทบ

“ความท้ายทายเศรษฐกิจในระยะสั้น มองว่าเศรษฐกิจปีนี้หดรุนแรง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดทั่วโลก ซึ่งกระทบรายได้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ถูกกระทบ ส่งผลให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น และหนี้ 3 ขา จะเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้เอกชน เพราะทุกคนขาดสภาพคล่อง แล้วภาครัฐก็พยายามพยุงเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นด้วย และจะเห็นการใช้นโยบายการเงินดอกเบี้ยต่ำใช้ Unconventional Monetary policy เพิ่มขึ้น ราคาสินทรัพย์ ทั้งค่าเงิน ตลาดเงิน และตลาดทุนผันผวน และสุดท้ายรูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยน ดิจิทัลจะมีบทบาทมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย พึ่งพาการส่งออกกว่า 70% และการบริโภคเอกชน 52% การใช้จ่ายภาครัฐ 15% และการลงทุนภาครัฐ 6% และสุดท้ายการลงทุนภาคเอกชน 18% ทำให้ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความผันผวน เห็นได้จาก 20-30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เศรษฐกิจ -8% และในช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเยอร์เกอร์ในสหรัฐฯ และวิกฤตของยุโรป เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการส่งออกหดตัว

ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงกว่าวิกฤตที่ผ่านมา ไม่ได้รับผลกระทบเฉพาะในด้านการส่งออก แต่กระทบทั้งชีวิตของประชาชน สาธารณสุข การตกงาน รวมทั้งปิดธุรกิจชั่วคราวด้วย โดยไตรมาส 2 ในช่วงที่โควิดรุนแรงมากที่สุดกระทั่งเกิดการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 หดตัว -12.2% โดยในด้านการใช้จ่าย ทั้งการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ติดลบ -28% การบริโภคภาคเอกชน -6.6% การลงทุนภาคเอกชน -15% การนำเข้า -23.3% ส่วนกลุ่มที่ยังพอพยุงเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังขยายตัวน้อย คือ การบริโภคภาครัฐ 1.4% และการลงทุนภาครัฐ 12.5% ด้านการผลิต เช่น ธุรกิจโรงแรม -50.2% เป็นต้น

ขณะที่ในไตรมาส 3 ของปี 2563 เห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยค่อยๆดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 2 เริ่มเห็นข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากากรใช้จ่ายในประเทศ ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. กลับมาเป็นบวก จากในไตรมาส 2 ติดลบ -10.9% และภาษีมูลค่าเพิ่มจากากรนำเข้าดีขึ้น -21.6% จากไตรมาส 2 ติดลบ -28.7% เป็นต้น

โดยคาดว่าในยุคหลังโควิด-19 ใน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเผชิญปัญหาผู้สูงอายุ แรงงานขาดแคลน และส่งผลให้ฐานการบริโภคลดลง และอัตราการเกิด ปีละไม่ถึง 1% จะทำให้โครงสร้างประชากรลดลง ฉะนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับระบบการดูแลชีวิตประชาชนหลังวัยเกษียณอายุ ส่วนในด้านการศึกษา ปัจจุบันยังตอบโจทย์แรงงานในตลาดยังต่ำ พบว่าส่วนใหญ่นิสิตนักศึกษาเรียนปริญญาตรีจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็มีการว่างงาน ขณะที่คนที่เรียนอาชีวะมีจำนวนน้อยลง อาจจะไม่ตอบโจทย์ฐานแรงงานในอนาคต ฉะนั้น จะต้องมีการเพิ่มศักยภาพคนไทยให้เก่งขึ้น เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ทั้งนี้ ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในระยะ 10 ปีข้างหน้า เอเชียจะเป็นผู้นำในด้านการผลิต โอกาสทางการค้าขายในเอเชียจะง่ายขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้า ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาษี เช่น มาตรฐานสินค้าส่งออก เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการค้ามนุษย์ ต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น พร้อมกันนี้ มีแนวโน้มที่บริษัทจะย้ายฐานการผลิตกลับไปใกล้บ้านของตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสหากไทยพัฒนาฐานการผลิตสู่เทคโนโลยีมากขึ้น