แก้รัฐธรรมนูญ ส่อยื้อ ชงตั้งกมธ.ศึกษา อ้างต้องทำประชามติก่อน

แก้รัฐธรรมนูญ ส่อยื้อ ชงตั้งกมธ.ศึกษา อ้างต้องทำประชามติก่อน

เวลา 17.15 น. วันที่ 24 ก.ย. ที่รัฐสภา มีกระแสข่าวว่า มีข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ

โดยให้เหตุผลว่า หากยืนยันที่จะให้ลงมติในวันนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกคว่ำทั้ง 6 ญัตติ เนื่องจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการทำประชามติถามประชาชนก่อน แล้วค่อยนำเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง เพราะเกรงว่าหากลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ แล้วในอนาคตมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการลงมติในวันนี้ขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ผู้ที่ลงมติรับหลักการ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

โดยจะใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 ที่ให้ที่ประชุมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการได้ ซึ่งจะมีระยะเวลาศึกษา 45 วัน จึงสามารถใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมไปพิจารณาได้ จากนั้นจึงค่อยนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พ.ย. จะดีกว่า

จากนั้น 18.05 น. นายวิรัช รัตรเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายสรุปว่า ตนรู้สึกว่า ก่อนที่ไม่มีญัตติร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาสภาฯมีความปลองดองสมานฉันท์กันอย่างเต็มที่ แต่ในการประชุม 2 วันที่ผ่านมากลับเห็นถ้อยคำแปลก เสียดสีกันบ่อยขึ้น ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราไม่มีช่องทางในการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพูดคุยหารือกันก่อน ซึ่งก่อนหน้าที่ตนไม่เคยเข้าใจว่า

ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อที่ 121 วรรคสามนั้น มีไว้เพื่ออะไร วันนี้ตนเข้าใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินมาถึงจุดนี้ ตนไม่มีทางยอมให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 206 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลตกไป ดังนั้น หากจะช้าไป 1 เดือนก่อนที่จะนำกลับเข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยหน้า เพราะถ้าวันนี้เดินหน้าแล้วคว่ำจะทำอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่า เสียงของ ส.ว.เป็นเสียงที่มีความสำคัญ ดังนั้น หากมีความจำเป็นในการเปิดประตู ม.256 โดยเปิดโอกาสให้พวกเราทั้ง ส.ส. และส.ว.ได้คุยกันบ้าง เพื่อให้เห็นสอดคล้องกันบ้าง โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ตนคิดว่า คุ้ม

“เราจะใช้เวลาในส่วนนี้โดยไม่ประวิงเวลา เพราะถ้าเดินไปข้างหน้าวันนี้ตัน แต่ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 121 วรรคสาม คิดว่าเดือนพฤศจิกายนจะได้โหวต และผ่านทั้ง 6 ญัตติตามที่ต้องการ ตนคิดว่า ส.ส ส.ว. มีวุฒิภาวะในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้ร่างที่ผม และคณะเสนอต้องเสียหายไป ก็ขอเริ่มเป็นสมัยหน้า และเสนอไว้ ณ ทีนี้ ในการขอตั้งคณะกมธ.ก่อนรับหลักการ และขอฝ่ายค้านว่า ทำไมเราไม่หันหน้าร่วมกันแก้ไข เพราะวันนี้หากทำแล้วไปถึงทางตันถามว่า จะได้อะไร วันนี้ผมจะหยุดรอเพื่อ 1 เดือนเพื่อให้สมาชิกทุกท่านสบายใจได้ในสิ่งที่ท่านต้องการ ผมอดห่วงไม่ได้ว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ อาจทำให้พรรคร่วมรัฐบาล หรือหลายท่านที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่ขอร่วมในการโหวต เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอยู่แล้ว อย่างพลังประชารัฐก็ยืนยันตั้งแต่ต้นว่า เราไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล จึงจำเป็น แต่คิดว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือมาตรา 256 แต่สิ่งนั้นจะไม่สัมฤทธิ์ผลถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่ให้การช่วยเหลือ” นายวิรัช กล่าว

จากนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอให้ตั้งคณะกมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมา 1 คณะ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 121 วรรคสาม เพื่อให้ตัวแทนทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และส.ว.ได้ร่วมกันศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วน โดยคณะกมธ.ที่ตั้งขึ้นจะได้จัดทำรายงานความเห็นของกมธ.เสนอความเห็นของกมธ.เสนอต่อรัฐสภาโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกรัฐสภาที่จะนำมาพิจารณาวินิจฉัยต่อไปในคราวประชุมหน้าเพื่อความรอบครอบ