‘สมบูรณ์’ ชี้กำลังตรวจ 1 แสนชื่อ เสนอแก้ รธน. คาดนำร่างเข้าสภาสมัยหน้า 1 พ.ย.

‘สมบูรณ์’ เผยรายชื่อเสนอแก้รธน.อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง ยันต้องดำเนินการตามกฎหมาย คาดบรรจุลงที่ประชุมสภาในสมัยหน้า

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่รัฐสภา นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการเสนอกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบหลักการและเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมของภาคประชาชนที่ได้เสนอเข้ามา โดยได้กำชับให้เร่งรัดการพิจารณาตรวจสอบโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ มีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ 1.รัฐธรรมนูญแห่งราชราชอาณาจักรไทย 2560 2.พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2556 3.ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ และมีการเสนอญัตติขอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีขั้นตอน ดังนี้ จะต้องมีการริเริ่มเสนอญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ยื่นเรื่องต่อประธานสภาพร้อมทั้งเอกสารประกอบดังนี้ เอกสารการลงรายมือชื่อพร้อมทั้งสำเนาบัตรประชาชน จะต้องมีร่างรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งบันทึกหลักการและเหตุผล คิดวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญเสนอมาพร้อมกัน โดยเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในการริเริ่มการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ และคณะได้มายื่นหนังสือขอเป็นผู้ริเริ่มญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ทางสภาก็ได้ตรวจสอบหลักการ เนื้อหาและความถูกต้องตามมาตรา 255 และประธานสภาฯได้เห็นชอบในหลักการและเนื้อหาว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ส่วนคำถามว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้ยื่นเข้ามา สามารถยกเว้นบางข้อบังคับเพื่อบรรจุเข้าที่ประชุมวันนี้ได้หรือไม่นั้น ตนขอเรียนว่า ประธานสภาเห็นชอบในหลักการและเนื้อหาแล้ว แต่ด้วยข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า จะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อให้ถูกต้อง และย้ำว่าการเสนอกฎหมายทุกฉบับจำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อให้เข้ามาถูกต้องตามหลักเกณฑ์ โดยตนขอเรียนว่าประธานสภาให้ความสำคัญมาก หากได้รับการตรวจสอบความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะสามารถบรรจุเข้าที่ประชุมภายใน 15 วัน ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อของผู้มีสิทธิเสนอชื่อเข้ามาทั้ง 100,732 รายชื่อ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถบรรจุเข้าไปในการประชุมรัฐสภาได้ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563