ผู้นำฝ่ายค้านยันอำนาจส.ว.ขัดหลักถ่วงดุลอำนาจ ไม่สอดคล้องประเพณีปกครองของไทย

ผู้นำฝ่ายค้านยันอำนาจส.ว. ขัดหลักถ่วงดุลอำนาจ ไม่สอดคล้องประเพณีการปกครอง

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 จำนวน 6 ฉบับ

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในฐานะผู้เสนอญัตติ ชี้แจงหลักการและเหตุผล 5 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดหลักเกณฑ์เข้มงวด นอกจากต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่แล้ว ยังต้องมีเสียงส.ว.เห็นชอบอีก 1 ใน 3 ด้วย และต้องมีเสียงจากพรรคการเมืองที่ไม่มีประธานหรือรองประธานสภา หรือไม่มีครม.อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคการเมืองดังกล่าว และมีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และความต้องการของประชาชน จึงเห็นควรให้กลับไปใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ของรัฐสภา รวมถึงเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่ชี้ว่า รัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายสมพงษ์กล่าวว่า ส่วนหลักการร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 270-272 เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 ให้ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกฯด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการ และประเพณีการปกครอง จึงไม่ควรให้ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯอีกต่อไป เห็นควรยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกฯต้องมาจากส.ส. รวมทั้งให้ยกเลิกมาตรา 279 ให้ยกเลิกประกาศคำสั่งของหัวหน้าคสช.เพราะเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน และเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คสช. และให้มีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง เนื่องจากระบบเลือกตั้ง ปัจจุบันใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาทางปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมือง การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ชัดเจน สมควรนำระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2450 และ 2550 ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาใช้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน