รัฐสภาประเดิมวันนี้ ถก 6 ญัตติร่างแก้รธน.วาระแรก จับตาท่าทีส.ว.-เกมยื้อเวลา

รัฐสภาเดือดวันนี้ ประเดิมถก6ญัตติร่างแก้รธน.วาระแรก จับตาท่าทีส.ว.-เกมยื้อเวลา

วันที่ 23 กันยายน วันแรกในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ แบ่งเป็น 2 ญัตติที่คล้ายกันคือญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ขอแก้ไขมาตรา 256เพื่อเปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้ และเสนอให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนกัน แต่มีรายละเอียดต่างกัน โดยร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้มีส.ส.ร. 200 คนโดยเลือกตั้ง 150 คน และคัดเลือก 50 คนจากนักวิชาการ โดยมีตัวแทนนักศึกษาด้วย และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จใน 240 วัน ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้เลือกตั้งส.ส.ร.ทั้งหมด 200 คน และให้เสร็จใน 120 วัน
ส่วนอีก 4 ญัตติเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ ญัตติที่ 1 เสนอแก้ไขมาตรา 272 และมาตรา 159 เพื่อยกเลิกอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ และเพิ่มเติมในมาตรา 159 ว่า นายกฯนอกจากเลือกจากบัญชีพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย

ญัตติที่ 2 เสนอแก้ไข มาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย ญัตติที่ 3 เสนอแก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และญัตติที่ 4 เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิก มาตรา 83, 85, 88, 90, 92 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 40 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกผู้สมัคร และเลือกพรรค

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อวางกรอบการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน

หลังการประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า แบ่งเวลาการอภิปรายให้ 3 ฝ่ายคือส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาทีเท่ากัน โดยจะให้พิจารณารวมทั้ง 6 ญัตติไปพร้อมๆ กันจนจบ จากนั้นจะให้ลงมติโดยวิธีขานชื่อรายบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะขานทีเดียวว่าจะรับหรือไม่รับญัตติทั้ง 6 ฉบับ เพื่อประหยัดเวลา

นายสุทินกล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาการประชุมวันที่ 23 กันยายน จะเริ่มเวลา 09.30น. เลิกเวลา 01.30 น. ส่วนวันที่ 24 กันยายนจะต้องยุติการอภิปรายในเวลา 18.00 น. เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติโดยการขานชื่อรายเป็นบุคคล

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า หลังอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติจบในเวลา 18.00 น.วันที่ 24 กันยายนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติที่ใช้วิธีขานชื่อรายบุคคล โดยแต่ละคนจะกล่าวในครั้งเดียวว่า จะลงมติรับหรือไม่รับทั้ง 6 ญัตติ คาดว่าจะใช้เวลาลงมติ 3-4 ชั่วโมง หลังลงมติแล้ว ถ้ารับหลักการวาระแรก จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาในวาระ 2 จำนวน 45 คนได้แก่ ส.ว. 15 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1คน

ส่วนท่าทีของส.ว.นั้น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.กลุ่มอิสระ กล่าวว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ได้เข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา โดยนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติมาพิจารณา แต่ไม่มีใครแสดงความเห็นทิศทางใดทิศทางหนึ่งชัดเจน บรรยากาศดูอึมครึม แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีเพียงบางญัตติเท่านั้นที่ผ่านการพิจารณา ส่วนอีก 4 ญัตติที่เสนอโดยส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปไม่รอด ยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

“ส่วนจะมีส.ว.ลงมติให้ 84 เสียงรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตอนนี้ดูยาก ต่างจากการพิจารณากฎหมายที่มีแนวทางชัดเจน แต่รอบนี้เงียบผิดปกติ”นายกิตติศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. อีกคนกล่าวว่า จนถึงวันนี้เสียง ส.ว.ยังเสียงแตกอยู่ แต่ยืนยันว่าตนเองหนุนให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดต้องดูว่ามติในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 24 กันยายนนี้จะเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยื้อเวลาออกไป ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ก็ยอมรับว่าได้ยินข่าวลือนี้เช่นกัน แต่ยืนยันว่าวิป 3 ฝ่ายและคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาไม่ได้มีการพูดเรื่องนี้แต่อย่างใด