เสียงส.ว.ก้ำกึ่ง รับ-ไม่รับร่างแก้รธน. รอสัญญาณ ไฟเขียวโหวต- ตีตกร่างฝ่ายค้าน ยื้อเวลารัฐบาลทำงานต่อ

เสียงส.ว.ก้ำกึ่ง รับ-ไม่รับร่างแก้รธน. รอสัญญาณจากรัฐบาล ไฟเขียวโหวตผ่านฉบับร่างรัฐบาล ตีตกร่างฝ่ายค้าน ยื้อเวลารัฐบาลทำงานต่อ

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการลงมติญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย ว่า ขณะนี้เสียงส.ว.ยังก้ำกึ่งระหว่างฝ่ายสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ กับฝ่ายที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายคัดค้านมีเกือบ 100 เสียง แสดงจุดยืนชัดเจนไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ทั้งในส่วนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้ไขรายมาตรา เพราะไม่มั่นใจว่าการตั้งส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ จะไม่แก้เนื้อหาเลยเถิดไปถึงหมวด 1 และ 2

ขณะที่กลุ่มสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญมีอยู่ราว 60 เสียง ส่วนใหญ่เป็นส.ว.ที่มีฐานอยู่ทางภาคอีสาน แม้จะมีจำนวนเสียงน้อยกว่า แต่แนวโน้มมีจำนวนเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเสียงจากส.ว.สายทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เคยสงวนท่าทีอยู่ก่อนหน้านี้มาสนับสนุนเพิ่มเติมมากขึ้น แต่ไม่กล้าเปิดหน้าแสดงออกเต็มตัว เหตุที่สนับสนุนเนื่องจากเห็นว่า ควรลดกระแสการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่ออกมากดดัน และรักษาภาพลักษณ์ส.ว.ที่ควรฟังข้อเรียกร้องของประชาชน

ทั้งนี้ การลงมติของส.ว.กลุ่มนี้จะให้ความเห็นชอบเฉพาะญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น เพื่อใช้เป็นหลักในการแก้ไข ส่วนเนื้อหาจะแก้ไขอย่างไรให้ไปว่ากันในอนาคต ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะคอนโทรลเนื้อหาการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ และถือเป็นทางออกที่ประนีประนอมดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ ช่วยยื้อเวลาให้รัฐบาลทำงานต่อได้

ส่วนญัตติร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างแก้ไขรายมาตราอีก 4 ญัตติ ส.ว.จะไม่ให้ความเห็นชอบ โดยขณะนี้กำลังรอสัญญาณสุดท้ายจากรัฐบาลยืนยันว่าจะให้โหวตผ่านร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ และหลังจากฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณมาชัดเจนแล้ว คาดว่าจะมีเสียงส.ว.เกิน 84 เสียง สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงส.ว.ที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญจะกลับลำมาสนับสนุนโหวตผ่านร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่าทางวุฒิสภา มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นำเนื้อหาของญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไปศึกษาและสรุปให้กับส.ว. เพราะหลายคนยังสงสัย และไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของญัตติทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงเป้าหมายที่ต้องการ และให้ดำเนินการทำความเข้าใจกับส.ว. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน