วิษณุ ปัดวิจารณ์คำปราศรัยม็อบ แนะข้อเรียกร้องแก้ รธน. มีขั้นตอนตาม กม.ต้องใจเย็นๆ

‘วิษณุ’ ปัดวิจารณ์ม็อบแนวร่วมฯ ปราศรัย ขอบคุณทุกฝ่ายไม่เกิดวุ่นวาย แนะข้อเรียกร้องแก้ ‘รธน.’ ต้องใจเย็น เพราะมีกระบวนการขั้นตอน

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถึงความเป็นไปได้ต่อข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ว่า ไม่เห็น แต่ได้ยินจากสื่อ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวยังแยกไม่ออก ทราบว่าจะมีไปถึงทำเนียบองคมนตรี ซึ่งจะทำอย่างไรนั้นไม่ทราบ และจะมาถึงรัฐบาลหรือไม่นั้นก็ยังไม่ทราบ หากส่วนใดที่ทำมาถึงรัฐบาลเช่นมี 2-3 ข้อ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ 1.เรื่องการคุกคามโดยรัฐบาลยืนยันว่า ไม่เคยคุกคาม การปฏิบัติตามกฎหมายถือเป็นการคุกคามไม่ได้ มิเช่นนั้นคงไม่สามารถชุมนุมแล้วพูดกันอย่างนี้ได้ 2.การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่จะเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในวันที่ 23-24 กันยายนนี้แล้ว เป็นเรื่องของรัฐสภาพิจารณาช้าหรือเร็ว ก็ขอให้ใจเย็น คงจะเร็วไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะต้องไปสู่การออกเสียงประชามติ ที่จะต้องมีกฎหมายรองรับ โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการทำงาน เพื่อตรวจร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้เสร็จเพื่อให้ทันในการเปิดสมัยประชุมสภาหน้า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ดังนั้น ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเพิ่มเติม ที่จะให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็จะยังไม่สามารถนำไปทำประชามติได้จนกว่าจะมีกฎหมายมารองรับ ขอให้เข้าใจกระบวนการ คือกระบวนการแก้ไขที่ทำในสภา และการออกกฎหมายประชามติ ซึ่งขณะนี้พอจะคาดคะเน วันเดือนปีไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผย และ 3.การเรียกร้องให้ยุบสภา และให้รัฐบาลลาออก ต้องถามว่า จะให้อะไรเกิดก่อน ถ้าลาออก กระบวนการในสภาอาจเดินได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่สำเร็จ ก็ต้องกลับไปใช้กระบวนการเหมือนเดิมที่พวกคุณไม่พอใจ ส่วนถ้าเป็นการยุบสภา กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องล้มไป และเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 ถึง 60 วัน ถ้าเลือกเข้ามาแล้วรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ ก็ต้องใช้กรรมวิธีเดิม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายร่าง สุดท้ายจะต้องเคาะให้เหลือข้างเดียวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะหลักการต่างกัน คือร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นการแก้ใหญ่ ร่างที่แก้ไขรายมาตรา และร่างของประชาชนที่เข้าชื่อ 5 หมื่นคน ที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ขณะนี้ถือว่ามี 6 ร่าง ซึ่งสามารถพิจารณาร่วมกันได้ แต่เวลาลงมติจะต้องแยกกันที่ละฉบับ โดยลงคะแนนแบบขานชื่อเปิดเผย ดังนั้น การลงมติ 1 ฉบับจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้ามี 6 ฉบับก็คูณเข้าไป ซึ่งเป็นการใช้เวลาพิจารณาที่ยาว แต่สภามีระยะเวลาประชุมแค่อีก 2 วันก็ปิดสมัยประชุม อาจจะ
ไปเบียดเวลาการอภิปราย จึงต้องควบคุมให้ดี

เมื่อถามว่า สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ดำเนินการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำได้เพราะมีร่างหลายฉบับ และประเด็นพัวพันกันอยู่ ถ้าสภาเห็นว่ายังไม่ต้องเร่งรีบ เพราะต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติ ก็อาจจะขอศึกษาก่อนซึ่งนี่เป็นเทคนิคของสภาธรรมดา ไม่ใช่วิชามารอะไร แต่จะใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมหรือไม่ก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะเข้าไปดูร่วมกับฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวกับเนื้อหาการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความหมิ่นเหม่ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ดู และการดำเนินการใดที่นำไปสู่คดี เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ เมื่อถามย้ำว่า พรรคการเมืองที่เข้าไปสังเกตการณ์ในลักษณะสนับสนุนการชุมนุม หรือมีการชูสามนิ้ว จะถือว่ามีปัญหาหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่รู้ จะมีข้อหาอะไรหรือมีข้อหายกมือโดยไม่สมควร เพราะตนก็เห็นว่ายกกันทั้งนั้น เมื่อถามย้ำว่าจะต้องมีการดำเนินการอะไรกับการที่พูดหมิ่นเหม่ต่อสถาบัน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามย้ำว่า มีความกังวลใจหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “พิศวง ก็เท่านั้นไม่มีอะไร”

เมื่อถามกรณีที่กลุ่มแนวร่วมฯ นัดชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 24 กันยายน ที่รัฐสภา นายวิษณุกล่าวย้อนว่า “สื่อก็ห่วงไปเสียหมด ก่อน 19 กันยายนก็เป็นห่วง กินไม่ได้นอนไม่หลับ คุณอย่าห่วงผมเลย ปล่อยห่วงไปเถอะ และต้องขอบคุณที่ทางเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ประสานกันและทำงานได้ดี และทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องสงบให้สุด แค่นี้ก็เกินกว่าที่หลายคนคาดแล้ว เพราะคุณก็คาดแล้วว่าจะตะลุมบอลกัน”