‘วิษณุ’ ยัน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ มุ่งปรับโครงสร้าง เผย จัดทำ ‘ร่างพ.ร.บ.สอบสวน’ ประกบอีกฉบับ

‘วิษณุ’ ยัน ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ปรับโครงสร้าง ทำงานให้ดีขึ้น ระบุ ไม่ยุบกองบัญชาการตำรวจ ตั้ง ‘กพค.-กร.ตร.’ เปิดช่องประชาชนร้องเรียนการทำงานตำรวจ เผย จัดทำ ‘ร่างพ.ร.บ.สอบสวน’ ประกบอีกฉบับ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในรายละเอียดเรื่องของตำรวจภูธรภาคยังมีอยู่ครบ ไม่ได้ยุบอะไร และยังให้ความสำคัญกับสถานีตำรวจ

แต่ในครั้งนี้ได้กำหนดให้มีบทบาท อำนาจ หน้าที่ งบประมาณ และบุคลากรอย่างเพียงพอ เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด รวมถึงให้มีการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานด้วย และมีการพิจารณาให้แยกงานสอบสวนออกไปจากตำรวจ

แต่เมื่อศึกษาโครงสร้างครั้งที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน จนมาถึงชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เห็นว่าถ้าแยกออกไปไม่มีประโยชน์ เพราะตำรวจก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนอีก เพราะการสอบสวนทำลำพังไม่ได้ ต้องมีการประสานงานกัน แต่ใช้วิธีการที่คล้ายกันได้ คือให้งานสอบสวนอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งแท่ง ในจำนวน 5 แท่ง แล้วใครเติบโตในแท่งงานสายใดก็ไปทำงานทางนั้น จนกระทั่งเกษียณ นี่คือการออกแบบโครงสร้างตำรวจชุดของนายมีชัย แต่ทางตำรวจคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้จะขัดขวางความเจริญก้าวหน้า และคนที่เป็นพนักงานสอบสวนจะเหนื่อยหนัก และไม่มีใครอยากเป็น และเห็นว่าควรมีโอกาสเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ให้ย้ายสลับกันได้โดยง่าย เพราะจะมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ การย้ายจึงไม่ง่ายเหมือนในอดีต เช่นหากจะย้ายสลับก็ต้องไปต่อแถวตามลำดับอาวุโส สรุปคือจะไม่แยกงานสอบสวนออกไปจากตำรวจ อย่างที่มีการเรียกร้อง เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคยเรียกร้องก่อนหน้านี้

นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้อาจไม่ได้อย่างที่ใจคิดทั้งหมด ตำรวจก็ไม่ได้ตามที่คิด เพราะถ้าเลือกได้ก็มีเรื่องที่ไม่เห็นด้วย 14 ข้อ แต่ก็ยอมลดลงมาจนเกิดการปฏิรูปสถานีตำรวจเป็นครั้งแรก ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (กพค.) ซึ่งเดิมไม่มี เพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายโดยคนที่ไม่ใช่ตำรวจ หากคิดว่าการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมก็ร้องเรียนมาที่ กพค. เหมือนที่พลเรือนร้อง จากนั้นให้ไปที่ศาลปกครอง ต่างจากที่ผ่านมา ถ้าโยกย้ายไม่เป็นธรรมก็ไปที่ศาลปกครองเลย นอกจากนั้นให้มีการตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจ (กร.ตร.) ที่นายกรัฐมนตรีสรรหามาจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง สรรหามา และมีจเรตำรวจเป็นฝ่ายเลขา เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ที่อาจจะพบเรื่องของการล้มคดี คดีขาดอายุความ การเลือกปฏิบัติสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องคดี

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปครั้งนี้ ให้มีเพียงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จากเดิมที่มีทั้งข้าราชการตำรวจแห่งชาติ และ ก.ตร. ซึ่งมีความวุ่นวายเพราะมีการเมืองเข้ามาแทรก แต่ครั้งนี้เอาการเมืองออกหมดเหลือนายกฯ เป็นประธานก.ตร. เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังปฏิรูปเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย โดยตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นไปให้พิจารณาตามระบบอาวุโส 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับตั้งแต่ผู้บัญชาการลงมาจนถึงผู้บังคับการตำรวจ พิจารณาตามระบบอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่านั้นลงมา พิจารณาตามระบบอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ นอกจากเรื่องอาวุโสอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูเรื่องความสามารถ และอายุหรือสุขภาพ ตำรวจทำงานกันหลายหน่วย นอกจากนั้นยังปฏิรูปการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็ยึดโครงสร้างตามที่ พล.อ.บุญสร้าง และนายมีชัยทำเอาไว้

แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นก็คือ การสอบสวน จะต้องมี พ.ร.บ.อีกฉบับหนึ่งแยกต่างหาก ที่มีประมาณ 20 มาตรา แต่จะยังไม่เสนอเข้าไปในตอนนี้ เพราะต้องทำเรื่องโครงสร้างให้เสร็จก่อน ยิ่งมีคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขึ้นมา ก็ได้ขอให้คณะทำงานของนายมีชัยช่วยทบทวนในรายละเอียดอีกครั้ง ที่ยังเสนอไม่ได้เนื่องจาก ทางอัยการศาลยังมีความเห็นแย้ง โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ในประเทศไทยมีตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา มีไว้สำหรับตำรวจฝ่ายเดียว ทำไมคนอื่นที่สอบสวนไม่ทำตามวิธีการนี้บ้าง จึงคล้ายกับว่าเวลาตำรวจสอบสวนไม่น่าไว้วางใจ ทั้งที่ วิธีการสอบสวนปัจจุบันถือว่าดี และยังมีการพูดถึงเรื่องของงบประมาณจึงเป็นเหตุผลที่ยังไม่เสนอ

รองนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนั้น มีเรื่องของการโอนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจสิ่งแวดล้อม และตำรวจจราจร โดยให้ตำรวจจราจรกลับไปอยู่ท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครภายใน 5 ปี ตำรวจป่าไม้ให้ไปภายใน 1 ปี ตำรวจสิ่งแวดล้อมให้โอนภายใน 2 ปี และสนับสนุนตำรวจที่ไม่มียศ เช่น ตำรวจที่เป็นหมอ จะให้ค่าตอบแทนแทนการให้ยศ เพราะหากถูกกับตำแหน่งก็จะเลื่อนยศไม่ได้ถ้าตำแหน่งไม่ว่าง แต่ถ้าไม่มียศก็สามารถเติบโตได้โดยไม่ติดขัดอะไร ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถปรับปรุงได้