‘คนเดือนตุลา’ ถอดบทเรียน กระตุ้นสำนึก จนท. จี้ผู้ใหญ่รับฟัง ลดความรุนแรง ชุมนุมใหญ่

‘คนเดือนตุลา’ ถอดบทเรียน กระตุ้นสำนึก จนท. จี้ผู้ใหญ่รับฟัง ลดความรุนแรง ชุมนุมใหญ่

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติพฤษภา’ 35 ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแยัง จุฬาฯ และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม” โดยมีอดีตแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต ร่วมวง

นายสมชาย หอมละออ คนเดือนตุลา และ อดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 กล่าวว่า ผมมีส่วนร่วมด้วยในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และ พฤษภา 35 ในฐานะศิษย์เก่า นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รุ่น 12 และเป็นศิษย์เก่าดีเด่น ขอแสดงจุดยืน เรื่องคำสั่งผู้บริการ มธ.ในปัจจุบัน ที่ห้ามไม่ให้นักศึกษาไปชุมนุมใน ม.ธรรมศสตร์ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคที่ผมเรียนหนังสือ รวมทั้ง 6 ตุลา 19 ขอแสดงความเห็นแย้งศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่งที่ไปหนุนคำสั่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะนักศึกษาควรมีพื้นทีืที่ปลอดภัย มีสิทธิ เสรีภาพทุกประการในการชุมนุม แสดงความคิดเห็น หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชนและนักศึกษาของท่าน สังคมจะเป็นอย่างไร เพราะเราจะถือไม้บรรทัดฐานคนละอัน ไม่สามารถนำไปสู่จุดยืนที่สันติได้

“การชุมนุมไม่ว่าจะฝ่ายใด ควรจะอำนวยความสะดวก น้ำ ท่า ส้วม นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพในสิทธิเสรีภาพแล้ว ยังจะเป็นการลดความรุนแรง ทำให้ผลทางลบผ่อนคลายลง เกิดบรรยากาศของการสื่อสาร เจรจา บทเรียนที่ผ่านมาคือ การจำกัดสิทธิ กระทั่งกลั่นแกล้งเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม เป็นการยุยงให้เกิดการแสดงออกที่ก้าวร้าวมากขึ้น คือจุดยืนที่อยากประกาศ และอยากให้ทุกคนผลักดันเรียกร้องในสิ่งเหล่านี้ด้วย”

นายสมชายกล่าวต่อว่า 14 ตุลา 16 ผมมีส่วนเป็นฟันเฟืองเล็กๆ การเคลื่อนไหวครั้งนี้คล้ายกับปัจจุบัน เริ่มจากนิสิต นักศึกษา ที่เป็นพลังบริสุทธิ์ คนที่เห็นด้วย รวมถึงพรรคการเมืองให้การสนับสนุนและให้กำลังใจอยู่ห่างๆ ทำให้การยอมรับของขบวนการ นักศึกษา 14 ตุลา เป็นไปอย่างกว้างขวาง จุดร่วมเหตุการณืคือคัดค้านเผด็จการทหาร ทำให้เป้าหมายมีความชัดเจน คล้ายการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน แต่มีความก้าวหน้ามากกว่า ไปไกลถึงขั้นสะท้อนปัญหาความเละเทะ เหลวแหลกที่อยู่ในสถาบันต่างๆ สถาบันทางการเมือง สถาบันยุติธรรม สถาบันโรงเรียน แม้แต่สถาบัน 14 ตุลาคม ก็มีประเด็นปัญหาที่สามารถวิพากษ์ได้ เรียกว่าเป็นวิกฤตของศรัทธาที่มีผลกว้างไกลมาก เป็นวิกฤตทางการเมือง นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาจนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถพัฒนากลไกเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ เพราะการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ หากจัดการไม่ได้ วิกฤตเศรษฐกิจจะตามมา ที่ยากจะคาดเดา ว่าจะลงเอยอย่างไร

นายสมชายกล่าวว่า ความรุนแรงมีทั้งจากการใช้กำลัง ใช้อาวุธ และ ความรุนแรงโดยวิธีอื่น เช่น ถ้อยคำ และโดยกฎหมาย 2.ต้องแยก รัฐ กับ รัฐบาล ซึ่งบางสถานการณ์ไม่ใช่อันเดียวกัน โดยหลัง 14 ตุลา ผู้นำนิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ถูกสังหารโดยหน่วยความมั่นคงไม่น้อยกว่า 60 คน เรื่องความขัดแย้งต้องยอมรับว่า บทบาทของกลุ่มต่างๆ ทางสากล ไม่ว่า สหรัฐฯ หรืิอ จีน ก็จเข้ามามีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยด้วย ในฐานะที่อยู่ในกลุ่ม 14 ตุลา, 6 ตุลา บทบาทส่วนใหญ่ก็คือเรื่องความคิด มากกว่าจะเป็นเรื่องกำลัง ส่วนเรื่องมวลชนก็มีการจัดตั้งมวลชนโดยฝ่ายความมั่นคงจริง แต่ก็เป็นเรื่องทางความคิดเช่นกัน

ในปัจจุบัน สิ่งที่เจอคือ มาตรการรุนแรงเชิงกฎหมายเป็นหลัก แต่ความโหดร้ายทารุณยังไม่ถึงช่วงนั้น แต่ต้องยอมรับว่า ธรรมชาติของรัฐมีความรุนแรง ความโหดร้าย ทารุณ เมื่อถึงจุดหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ต้องยอมรับว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง แกนนำก็ไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมได้ และเมื่อสั่งให้สลายการชุมนุม ทุกคนพยายามกลับบ้าน เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนควรตระหนักว่าความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา กลับสร้างปฏิกิริยาโต้กลับมากขึ้น บทเรียนที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่า รัฐยังโหดอยู่ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความโหดจะแสดงออก แต่จะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

“มีการฉีกรัฐธรรมนูญทุก 10 ปี เพราะหลังเกิดเหตุความรุนแรง สังคมไม่มีการผลักดันให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โครงสร้างแบบเดิมๆ ก็กลับมาอีก เกิดความรุนแรงอีก เราไม่สามารถพัฒนากลไกทางการเมืองเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง สร้างความยุติธรรมได้ ซึ่งการจะทำได้ ผู้ใหญ่ที่มีบทบาท ที่เน่าเฟะ จึงต้องสำรวจและยอมรับความจริง และถือว่าสิ่งที่เยาวชนแสดงออกต้องรับฟัง ปรับปรุงเท่าที่จะทำได้้้ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ส.ส. ส.ว. กองทัพ กระบวนการยุติธรรม ต้องการการปฏิรูปอยู่ไม่น้อย ต้องปฏิรูป ไม่เช่นนั้นสังคมจะปฏิรูปองค์กรเหล่านี้”

“นอกจากยุติการคุกคามผู้เห็นต่างแล้ว ยังสนับสนุนการปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะการเคลื่อนไปข้างหน้าจะยากมาก ส่วนการยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือส่วนของการแก้ไขความรุนแรง แต่จะยุบสภาก่อน หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน ยังมีคำถาม ด้วยเงื่อนเวลา ต้องดูการชุมนุม 19 กันยายนนี้ จะบอกทิศทางของการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี” นายสมชายกล่าว