‘อดีตแกนนำ น.ศ. ปี35’ ฉะความรุนแรงเกิดจาก ‘กดทับ’ ลั่นหากเกิดอะไร ‘ประยุทธ์’ รับผิดชอบ

‘อดีตแกนนำ น.ศ. ปี35’ ฉะความรุนแรงเกิดจาก ‘กดทับ’ ลั่นหากเกิดอะไร ‘ประยุทธ์’ รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติพฤษภา’ 35 ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแยัง จุฬาฯ และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม” #ความรุนแรงอย่าหาทำ โดยมีอดีตแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต ร่วมวง

นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พ.ศ.2534-2535 และอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ พฤษภา’ 35 กล่าวว่า มรดกของปี 35 หลังไล่ พล.อ.สุจินดาไปแล้ว มี 3 เรื่องที่เกิด คือ 1.ทหารกลับเข้ากรมกอง เพราะหมดความชอบธรรม 2.กระแสปฏิรูปสื่อที่ไม่มีการรายงานข่าวชุมนุมเลย จนกระทั่งเกิดไอซีทีขึ้น หวังเป็นสื่ออิสระ จากนั้นเกิด กสทช.ให้เป็นมรดกพ่วงชิ้นที่ 2, 3.หลังมีรัฐบาลและเลืิอกตั้ง มีการเรียกร้องให้มี รัฐธรรมนูญ 2540

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมรดก มี และร้ายแรง ขณะที่นักศึกษาเรียกร้องนายกฯ จากการเลือกตั้ง ผลคือ มีการเสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นคนนอก ทุกคนเฮ นักศึกษาส่วนหนึ่งตกใจ ว่าต้องการเปลี่ยนนายกฯ หรือนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เหตุการณ์นั้นแผ่วเบาและหายไป เกิดระบอบคนดี ซึ่งต้องมีอำนาจถึงจะนิยามความดีได้ นักเรียนสมัยนี้จึงเรียกตัวเองว่านักเรียนเลว มรดกนี้นำไปสู่การชุมนุมครั้งอื่นเพราะอยากได้นายกฯ คนดี มีผลร้าย แต่ข้อดีคือมี รัฐธรรมนูญ 40 ที่แฝงระบอบคนดี ทำให้นักการเมืองเป็นอาชีพที่เลวร้าย นักศึกษาเป็นเผด็จการม็อบ ขณะที่ทหารเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งค่อนข้างประหลาด

นายชูวัสกล่าวว่า ระบอบแบบนี้ขอแค่เป็นคนดี ไม่เลือกวิธีที่จะได้มา สร้างภาระให้นักศึกษาปัจจุบันต้องมารื้อ เป็นความรุนแรงที่เปิดไม่รู้กี่ครั้ง เป็นภาระให้เขาออกทาประกาศว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” เขาต้องการจะถอดรื้อดีเอ็นเอในโครงสร้างออกมา เขาต้องการต่อต้านความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ดูวิธีการปราศรัยและเคลื่อนไหว มีเฮทสปีทหรือไม่

“ความรุนแรงประการหนึ่ง คือ มองเขาเป็นเด็ก ใช้อารมณ์ กดทับเขาราวกับไม่รู้ประสีประสา ไม่รู้สถานการณ์ประวัติศาสตร์ ความกลัวนี้ที่ไปกดทับ และด้อยค่า สร้างความชอบธรรมในการปราบ ‘เพดานเกิน’ ‘ใช้อารมณ์’ ‘เสนออะไรที่ไม่ทางออก’ ทั้งหมดไปกดทับ สิ่งที่เขาต้องการจะรื้อ เรากลับไปตีกรอบ ยิ่งกดทับเขาไปอีก อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้และเขารู้ วิธีการศึกษาของเขาไม่เหมือนรุ่นเรา ขณะเดียวกัน รัฐบาลนี้เกิดมาจากการจัดการชุมนุมและรัฐประหาร เขารู้ดีว่าการชุมนุมจะล้มรัฐบาลอย่างไร เขารู้ เขาเกิดมาจากสิ่งนั้น รู้ดีว่าจะจัดการอย่างไร เมื่อรู้ดีรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้อง ประยุทธ์บอกใครต้องรับผิดชอบ ก็คุณนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ”

นายชูวัสกล่าวว่า เพนกวิน ศึกษาประวัติศาสตร์เยอะ จึงรู้ ขอให้ไปสังเกตรายละเอียด เขาเห็น กำหนด ยุทธวิธี จุดเริ่มต้นมาจากวันเฉลิมหาย สื่อก็เช่นกัน จุดเดียว ขยาย อคติของสื่อมีอิทธิพลมาก ซึ่งหยุดกระแสธารนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเวลาไม่ย้อนหลัง การชุมนุมคือการร่วมสร้างสรรค์ประเทศชาติ

“นี่คือความยากลำบากของสื่อเช่นกัน ถามหัวใจตัวเองคุณต้องการสังคมแบบไหน แล้วเติมมันด้วยความกล้าทางจริยธรรมแค่นั้น สื่อจะง่ายมาก เพราะคือข้อเรียกร้องที่สร้างสรรค์ ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น เราเรียกร้องให้คนไปเยอะๆ เพราะเรากลัวความรุนแรง ดังนั้น การป้องกันได้ดีที่สุด คือ ไปชุมนุม” นายชูวัสกล่าว