พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ ย้ำชุมนุม 19 ก.ย.เป็นสิทธิ ขอผู้ใหญ่ใจกว้าง ร่วมหาทางออก

“6 พรรคฝ่ายค้าน” ร่วมออกแถลงการณ์ ย้ำ การชุมนุมของกลุ่ม น.ศ.วันที่ 19 ก.ย.นี้ เป็นสิทธิ ขอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใจกว้าง หาทางออกร่วมกันกับกลุ่ม น.ศ.-ปชช.

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่รัฐสภา แกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน คำแถลงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมแถลงเรียกร้องเรื่อง สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรค พท. เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ว่า ด้วยสถานการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เข้าสู่ภาวะวิกฤตจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดและไร้ซึ่งประสิทธิภาพ ไร้ขื่อแปในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน สร้างสังคมที่มีแต่ความขัดแย้ง และสร้างรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดสารพัดปัญหา จนนำไปสู่ทางตันของประเทศในปัจจุบัน จนเกิดกระแสเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทุกเพศทุกวัยในวงกว้าง และจะมีการชุมนุมใหญ่ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านขอแถลงให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้ 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า การแสดงออกและการเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนภายใต้กรอบกฎหมาย เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ถูกต้องและสามารถกระทำได้ รัฐบาลต้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้การแสดงออกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างเสรี รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการแสดงออกของประชาชน โดยปราศจากการคุกคาม แทรกแซง ให้ร้าย และด้อยค่าการแสดงออกดังกล่าว รัฐบาลต้องไม่ทำลายความคิดเสรีของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายที่บิดเบือนข้อเท็จจริง การนิ่งเฉยปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธสลายการชุมนุม และกักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องต่างๆ ของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนควรจะต้องมีการนำไปสู่การพิจารณาด้วยความพินิจพิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย ความเหมาะสมอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมให้กับสังคมไทย 2.หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนในวงกว้าง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผลจากการสืบทอดอำนาจและความต้องการรักษาอำนาจของ คสช. เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนทำลายประเทศชาติ และนำพาประเทศมาสู่ทางตัน ไร้หนทางออก พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 23-24 กันยายน 2563 ซึ่งสนับสนุนให้มี ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ ส.ส.ร.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อปลดล็อกประเทศจากทางตันในปัจจุบัน

พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าหาก ส.ส.ร.มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จะเป็นช่องทางให้คนเฉพาะบางกลุ่ม หรือฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถเข้ามาแทรกแซงและบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ และ 3.พรรคร่วมฝ่ายค้านขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ต้องถูกยกเลิก พวกเราเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมหาทางออกให้ประเทศ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด และสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ตรงตามความเป็นจริงที่สุด เพื่อยุติความขัดแย้งที่นับวันจะขยายตัวไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อถามว่า การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในวันที่ 19 กันยายนนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปร่วมด้วยหรือไม่ นายสมพงษ์กล่าวว่า จะมีส่วนที่เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ปกครองฯ ไปสังเกตการณ์ ส่วนกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ให้ใช้สถานที่ชุมนุมนั้น ตนมองว่า การแสดงออกของนิสิต นักศึกษา และประชาชนสามารถกระทำได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยมีส่วนกับประชาชนโดยตรง ดังนั้น นักศึกษา หรือใครที่จะเข้าไปทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิและเสรีภาพโดยตรงอยู่แล้ว ไม่ควรที่จะปิดกั้น แต่ตนไม่ทราบว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นมีแนวคิด หรือได้รับข้อมูลอย่างใดมาจึงทำให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าควรมีการอ่อนโอน

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา นายสมพงษ์กล่าวว่า เราเห็นด้วย เพราะถือว่าเป็นสิทธิที่จะดำเนินการในแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งการดำเนินการนี้ต้องยอมรับว่า เขาดำเนินการโดยปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใดๆทั้งสิ้น ตนห่วงว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจจะทำให้เกิดเป็นปัญหา ส่วนนิสิต นักศึกษา และประชาชน ตนเชื่อว่าไม่มี เขาไปโดยปราศจากอาวุธ และต้องการดำเนินการให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง

เมื่อถามว่า กลุ่มนักศึกษาได้มีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันด้วย นายสมพงษ์กล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำได้

ด้านนายทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า อธิการบดีทั้ง 16 มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เคยเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ. ซึ่งทาง กมธ.หลายท่านได้ถามว่า ในฐานะที่ทางมหาวิทยาลัยรับเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน พื้นที่ของมหาวิทยาลัย หากประชาชน หรือนักศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ อธิการบดีตอบว่ายินดีจะให้พื้นที่ แต่พอตอนนี้มีข่าวออกมาก็ยังสงสัย โดยเฉพาะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตอบไว้ชัดเจน ทั้งนี้ เราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจไปสกัดกั้น หรือคุกคาม ซึ่งเราก็พร้อมจะดูแลทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คนหน้าเดิมคือคนชักใยม็อบ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “อยากรู้เหมือนกันว่าคนหน้าเดิมที่ว่านั้นคือใคร” ทั้งนี้ หลักสำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ เราเห็นว่า การแสดงออกเป็นเสรีภาพของประชาชน เราสนับสนุนในหลักการพื้นฐานนี้ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับ แต่ที่เราห่วงคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราอยากเห็นทุกฝ่ายช่วยกันหาพื้นี่ปลอดภัยให้นักศึกษาและประชาชน ภายใต้กรอบของกฎหมาย ตนอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องใจกว้าง เราเชื่อว่าเรื่องหลักที่เด็กๆ พูด คือเขาอยากสร้างอนาคตของเขา ให้เขามีส่วนร่วม เพราะเขาต้องเดินไปในอนาคตวันข้างหน้า เราในฐานะผู้ใหญ่ ควรเปิดโอกาสที่จะแสวงหาทางออกร่วมกันกับเขา หวังว่าเราจะช่วยกัน เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะร่วมกันหาทางออกที่ดี

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า สงสัยจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์เองหรือไม่ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนที่กรอกเพลงใส่หูเด็ก คนที่ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ก็คือท่านเอง ท่านจะด้อยค่าเด็กแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะเขามีความคิด ความอ่านเป็นของเขาเอง สรุปคือ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องเลือกว่าจะพาบ้านเมืองไปหาทางออกหรือทางตันให้กับประเทศ ถ้าจะหาทางออกให้ประเทศท่านต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่การศึกษา เหมือนเช่นระดับสากลที่เขาทำกันเมื่อมีการชุมนุมให้มีการพูดคุยกันอย่างเสรี หรือถ้าจะพาไปหาทางตันกดดันเด็กให้ไร้ทางออกแล้วผลักไปอยู่ที่โซเชียลอย่างเดียว แล้วก็ให้เขาพูดในส่วนของเขาผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีสิทธิได้ฟัง ฉะนั้นถ้าเราจะพาเขาไปหาทางออกเราต้องหยุดคุกคามเขา และรับฟังพวกเขาจริงๆ ไม่ทัดทานอนาคต แต่ถ้าจะพาไปถึงทางตันก็เท่ากับว่าพยายามที่จะกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ที่มันจะเป็นอนาคตของประเทศ ดังนั้นใน 2-3 วันนี้ยังพอมีเวลาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งนายกฯ อธิการบดี ส.ว. ยังมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะพาประเทศไทยไปหาทางออกหรือทางตัน แต่ถ้ามันไปถึงทางตันแล้วเราไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราต้องหาออกร่วมกันไม่เช่นนั้นถ้าบ้านเมืองถึงทางตันและจะลุกเป็นไฟได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ปช. กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัดสินใจที่จะปิดมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้นิสิตนักศึกษาไปแสดงออกเพี่อการสนับสนุนประชาธิปไตยนั้น จึงทำให้เรื่องนี้เป็นตราบาปของสถาบันการศึกษาของชาติที่มีการส่งเสริมประชาธิปไตยตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นผู้บริหารจึงต้องทบทวนให้ดีทั้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่ของผู้บริหาร หรือรัฐบาล แต่เป็นของประชาชน เมื่อจะมีกิจกรรมในทางที่เกิดประโยชน์กับชาติบ้านเมือง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับภาษีจากประชาชนควรที่จะส่งเสริม ไม่ใช่ขัดขวาง ตนมีความเสียดายเพราะเรื่องนี้ประวัติศาสตร์ต้องจารึก มหาวิทยาลัยควรได้โบดำจากประชาชนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามมหาวิทาลัยธรรมศาสตร์ยังมีเวลาที่จะทบทวน เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ากิจกรรมการเรียกร้องประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นฉบับสืบทอดอำนาจ และการให้ผู้บริหารประเทศที่ประสบความล้มเหลวออกไป เป็นเรื่องของประเทศชาติ การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมาปกป้องรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงประชาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ในการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศในครั้งนี้ ตนคิดว่าหลายคนคงมีความเสียใจกับการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จึงอยากให้มีการแก้ไข ทั้งนี้ ไม่มีที่ใดที่จะเกิดความสง่างาม และปลอดภัยที่สุดสำหรับนักศึกษาที่จะไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นของประเทศ จะให้พวกเขาไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ในสถาบันการศึกษา ที่สนามหลวงก็ถูกห้าม บนถนนก็บอกว่าผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษาได้ตัดสินใจแล้วว่ากิจกรรมในวันที่ 19 กันยายน ต้องเกิดขึ้น ยิ่งได้รับการขัดขวางจากมหาวิทยาลัย และรัฐบาล ก็เกรงว่าจะเกิดความรุนแรง

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า เราอย่าลืมว่าภาวะที่มีบางฝั่งบางฝ่าย การเอาประเด็นเรื่องสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ดำเนินมา 10 กว่าปีแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 48 เรื่อยมา ผ่านรัฐประหาร 2 ครั้ง นักเรียนนักศึกษาได้พูดถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เพราะเขาเติบโตมาในภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ที่มีการยกเรื่องสถาบันฯเข้ามาโจมตีกัน กระทั่งเป็นเงื่อนไขในการต่อต้านและล้มล้างรัฐบาลบางชุด การรัฐประหาร 2 ครั้งก็เป็นการกระทำที่กล่าวอ้างว่าเข้ามาเพื่อปกป้องสถาบันฯ หลังการรัฐประหารก็ยังมีการเอาประเด็นสถาบันฯเข้ามาโจมตีกล่าวหาฝ่ายที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มต่างๆ หรือพรรคการเมือง ดังนั้น ตนอยากจะย้ำว่าปัญหาการดึงสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมีมานาน

“ความรับผิดชอบในวันนี้ถึงที่สุด ตนเห็นว่าฝ่ายต่างๆ ที่เคยหยิบยกเอาประเด็นสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งผู้นำรัฐประหาร ผู้นำกองทัพ เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบว่าสังคมไทยจะหาทางออกอย่างไรกับปมเงื่อนที่พวกเขาได้ผูกไว้และโตมากขึ้น ไม่ควรโยนให้นักเรียน นักศึกษาที่เป็นภาพสะท้อนของกลุ่มหนึ่งซึ่งได้สร้างขึ้น แล้วแทนที่จะสำนึกและหาทางคลี่คลาย กลับผูกปมเงื่อนให้ใหญ่ขึ้น เรายังเห็นกระบวนการพยายามกล่าวหาป้ายสีโจมตีกลุ่มต่างๆ ว่าต้องการล้มล้างสถาบันมากขึ้นไปอีก เพื่อแก้ปัญหาให้รัฐบาล เพื่อหวังว่าจะลดแรงกดดันให้รับบาล นี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย แทนที่จะผูกปมก็ควรต้องหาทางคลี่คลาย และคนที่มีส่วนผูกปมเงื่อนนี้ตัองรับผิดชอบ” นายชัยธวัชกล่าว