‘สภาพัฒน์’ แจงรายละเอียดใช้งบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน

‘สภาพัฒน์’ ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษกเปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ดังนี้

1.​พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้กำหนดว่าการกู้เงินตาม พ.ร.ก. จะนำไปใช้ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.​นับตั้งแต่ที่ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ (ตั้งแต่ เม.ย. 63 เป็นต้นมา) ซึ่งเป็นช่วงที่ภาครัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น คณะกรรมการฯ ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบและฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสนอ โดย ณ วันที่ 14 ก.ย. 63 ครม. ได้อนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาคส่วนต่างๆ รวม 30.51 ล้านราย (ต่ำกว่ากรอบจำนวนผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือของหน่วยงานรับผิดชอบรวม 45 ล้านราย) วงเงินรวม 344,735 ล้านบาท (เบิกจ่ายร้อยละ 86.24 ของกรอบวงเงินอนุมัติ) โดยสาเหตุที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ร้อยละ 100 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากมีจำนวนประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ต่ำกว่าเป้าหมาย

3.​สำหรับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาด รัฐบาลได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยาที่จำเป็นและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ดังนั้น การดำเนินงานในส่วนของแผนงาน/โครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.ก. จึงเป็นการดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรับมือการบำบัดการรักษา ป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งวิจัยและพัฒนาเพื่อการฟื้นฟูด้าสาธารณสุขของประเทศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ปัจจุบัน ครม. ได้พิจารณาเห็นชอบแผนงาน/โครงการตามที่ สธ. เสนอ รวม 5 โครงการ วงเงินรวม 4,724 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้รวม 3 โครงการ วงเงิน 102 ล้านบาท และเงินงบประมาณ (งบกลาง) 2 โครงการ วงเงิน 4,662 ล้านบาท โดยในส่วนที่เหลือ สธ. อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63

4.​สำหรับการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่สำนักงานฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักนั้น ได้ดำเนินการบนหลักการที่สำคัญว่าจะดำเนินการใช้จ่ายแผนฟื้นฟูฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ เพื่อให้สามารถรองรับในกรณีที่ ครม. มีความจำเป็นที่ต้องนำวงเงินกู้ของแผนฟื้นฟูฯ ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการแพทย์และให้ความช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของ พ.ร.ก. เนื่องจากขณะนี้ยังคงมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อยุติการแพร่ระบาดได้เมื่อไหร่

โดยในระยะแรก ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การระบาดภายในประเทศได้คลี่คลายลงแล้ว และจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่จะเริ่มปีงบประมาณ 2564 ซึ่งแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการในรอบที่ 1 จะเป็นโครงการที่มีจุดเน้นที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ในระดับพื้นที่ (Area Base) สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 92,400 ล้านบาท และคาดว่าการดำเนินโครงการภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าวจะก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 400,000 ราย เกษตรกรมีความมั่นคงทางอาชีพ 95,000 ราย พื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น 2.4 แสนไร่ ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลงและสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี โดย ณ วันที่ 16 ก.ย. 63 ครม. ได้อนุมัติโครงการในรอบที่ 1 แล้ว 229 โครงการ วงเงิน 60,131 ล้านบาท (รวมวงเงินของ โครงการที่ ครม. มีมติให้ใช้จ่ายงบกลางจำนวน 160 โครงการ รวม 1,132 ล้านบาท)

โดยขณะนี้ยังมีโครงการที่คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อเสนอโครงการ อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ฯ และโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) วงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ย. 2563 ตามแผนการดำเนินงานที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอ ครม. ไว้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 1.80 ของวงเงินอนุมัติ ซึ่งจากการพิจารณาแผนดำเนินโครงการตามข้อเสนอของหน่วยงานรับผิดชอบ พบว่าส่วนใหญ่ได้กำหนดว่าจะมีการเบิกจ่ายงวดแรกได้ในเดือน ก.ย. 63 เนื่องจากภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้ดำเนินโครงการแล้ว หน่วยงานรับผิดชอบโครงการจะต้องเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและรัดกุม