‘เอกชัย’ชงกมว.ใช้หลักสูตรป.วิชาชีพครู แทน ป.บัณฑิต18ก.ย.

‘เอกชัย’ชงกมว.ใช้หลักสูตรป.วิชาชีพครู แทน ป.บัณฑิต18ก.ย.

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ในการประชุม กมว.วันที่ 18 กันยายนนี้ ตนจะเสนอให้ กมว.พิจารณาเรื่องการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ที่จะมาทดแทนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต โดยคุรุสภาจะพยายามกำหนดรายละเอียดวิธีการต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยไปปฏิบัติ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรผลิตครูของตนเองที่ได้รับการอนุมัติและรับรองอยู่แล้ว ก็ให้นำหลักสูตรเหล่านี้มาเปิดแทนหลักสูตรป.บัญฑิต แต่เมื่อมหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูเสร็จ ต้องส่งให้ กมว.ตรวจสอบด้วยว่าวิชาชีพครูที่มหาวิทยาลัยจัดให้กับบุคคลที่ไม่ได้จบคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์นั้น ตรงกับรายละเอียดของหลักสูตร (มคอ.2) ที่มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองหรือไม่

“ทั้งนี้ คุรุสภาจะเร่งจัดทำร่างประกาศออกมา และเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาอนุมัติออกประกาศต่อไป เบื้องต้น คือถ้าบุคคลจบปริญญาตรี คณะ/สาขาใดก็ตาม ที่ผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูแล้ว มีสิทธิสอบวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ไปยืนยันกับสถานศึกษาว่าได้สอบผ่านวิชาชีพครูแล้วและสามารถทำการสอนโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐได้ เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่างนี้ ก็สามารถสอบความรู้ความสามารถในหมวดวิชาอื่นๆ คือ หมวดทักษะภาษาไทย หมวดทักษะภาษาอังกฤษ หมวดทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เพื่อการศึกษา และเมื่อปฏิบัติการสอนเสร็จแล้ว และสอบวิชาเหล่านี้ผ่าน ก็ขอสอบความรู้วิชาเอก และถ้าสอบผ่านทั้งหมด ก็สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ส่วนว่าจะใช้ระยะเวลาเรียนเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด” นายเอกชัย กล่าว

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า หลักสูตรนี้จะต่างจาก ป.บัณฑิต คือ ถ้าบุคคลเรียนจบคณะ/สาขาอื่นที่ไม่ใช่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะต้องไปทำการสอบ 1-2 ปี ก่อนที่จะมาเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต ซึ่งระหว่างที่บุคคลเหล่านี้ ทำการสอนนั้น ไม่มีความรู้เรื่องวิชาชีพครู และหลังจากเรียนจบแล้วบุคคลเหล่านี้ต้องสอบประเมินความรู้ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ใน 5 หมวดวิชา คือ 1.ทักษะภาษาไทย 2.ทักษะภาษาอังกฤษ 3.ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการศึกษา 4.ความรู้ทางวิชาชีพครู และ 5.ความรู้วิชาเอก ทั้งหมด ไม่สามารถทยอยสอบเหมือนกับผู้ที่เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู

“เชื่อว่าคนที่เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูนั้น จะมีความเป็นครูสามารถทำการเรียนการสอนได้ดี นอกจากนี้ อาจารย์ในสถาบันผลิตครูที่บุคคลเหล่านี้ไปเรียน จะต้องรับผิดชอบนิเทศการสอนด้วย ซึ่งจุดนี้จะแตกต่างจาก ป.บัญฑิตเดิมอย่างมาก ทำให้คุณภาพผู้เรียนน่าจะดีกว่า และได้คนสอนตรงตามวิชาเอกแน่นอน” นายเอกชัย กล่าว