เอดีบี ชี้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเอเชีย หดตัวรอบเกือบ 60 ปี ฟื้นยากแบบตัว L

เอดีบี เปิดรายงาน Asian Development Outlook 2020 Update วันนี้ (15 กันยายน 2563) ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย คาดว่าจะหดตัวในปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบหกทศวรรษ หรือตั้งแต่ปี 2503 (ต้นทศวรรษ 1960s) ที่ร้อยละ 0.7 แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีหน้าที่ร้อยละ 6.8 เนื่องจากภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวจากหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID- 19)

ในรายงานได้คาดการณ์การฟื้นตัวแบบรูปตัว “L” แทนที่จะเป็นตัว “V” และคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะติดลบถึง 3 ไตรมาสในปี 2563

Asian Development Bank (ADB) chief Takehiko Nakao speaks during the Foreign Correspondents Association of the Philippines (FOCAP) Forum held at the ADB headquarters in Manila on November 24, 2016. – The head of the Asian Development Bank (ADB) on November 24 urged US President-elect Donald Trump to continue with a landmark trans-pacific trade deal, but said the region would press on with key accords regardless of his decision. (Photo by Noel CELIS / AFP)

“ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะเผชิญกับการเติบโตที่ยากลำบากในช่วงที่เหลือของปี 2563” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว “ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบ เนื่องจากการระบาดครั้งแรกที่ขยายออกไปหรือการระบาดซ้ำ ๆ อาจกระตุ้นให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มเติม

ดังนั้น มาตรการที่ต่อเนื่องและการร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด โดยลำดับความสำคัญของนโยบายไปที่การปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของกลุ่มที่เปราะบางที่สุด จะทำให้พวกเขามั่นใจว่าสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัย และสามารถเริ่มต้นกิจกรรมทางธุรกิจได้ และนี่จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด”

สาเหตุหลักของเศรษฐกิจที่หดตัวลงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อในปีนี้จนถึงปีหน้า รัฐบาลในแถบนี้ได้ใช้เงินทั้งหมด 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15% เมื่อเทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในแถบเอเชีย เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

จีนเป็นหนึ่งในประเทศเดียวที่ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการคาดการณ์ว่าปลายปีนี้จะขยายตัวขึ้น 1.8% และ 7.7% ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดประเทศอย่างเคร่งครัด ตัวเลขจีดีพีหดตัวลงถึง -23.9% ในไตรมาสแรกของปี และคาดว่าจะหดตัวลงอีก 9% ตลอดทั้งปี

เอดีบีรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดี แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรายงาน ADO ล่าสุดในวันนี้ คาดว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่หดตัวร้อยละ 4.8 สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.5 ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน

อัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะติดลบในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน การหดตัวสูงของราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ช่วยลดค่าสาธารณูปโภคด้วย ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.8 ในปีหน้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายนอกยังคงเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในทั่วโลก การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายใน ได้แก่ การกลับมาระบาดซ้ำของ COVID-19 ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน