รายงานพิเศษ ชายแดนใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตอน นกเขาชวา นกสันติภาพชายแดนใต้

“ชายแดนใต้ความหลากหลายที่ล้ำค่า”  เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึง ความแตกต่างของผู้คนในพื้นที่   ที่มีทั้งคนไทยเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ จึงเป็นที่มาของความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ที่ผ่านมาผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นอยู่ที่สงบเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยกันฉันญาติมิตร  บนพื้นฐานแห่งความพอเพียงมาช้านาน ประกอบกับความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  ชายแดนใต้จึงเป็นเสมือนอัญมณี ที่รอการเจียระไนให้แววแสง แต่นับจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ก่อตัวและขยายความรุนแรง รวมทั้งผู้ก่อความไม่สงบ ฉวยใช้ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของคนมลายู ความเชื่อทางศาสนา และประวัติศาสตร์ในอดีต เป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างผู้คนต่างศาสนิก ส่งผลให้ความสงบสุขที่เคยมีในอดีต กำลังจะลดเลือนหายไป

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมประสานคนของผู้คนในสังคมชายแดนใต้และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต นั่นก็คือ “นกเขาชวาเสียง” เหตุที่ชื่อนกเขาชวา กล่าวกันว่าในสมัยหนึ่งชาวชวาให้ความสำคัญแก่นกเขาชนิดนี้มาก ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลลาภยศ และโชคลาภ จึงพากันจับนกเขาชนิดนี้มาเลี้ยงกัน และนี่เองที่เป็นสาเหตุให้นกเขาเล็กชนิดนี้เรียกกันว่า “นกเขาชวา” ในอดีตจะนิยมเลี้ยง และเล่นกันในราชสำนัก ข้าราชบริพาร ขุนนาง คหบดี และประชาชนที่สูงอายุ มักจัดงานแข่งขันในงานนักขัตฤกษ์ และงานชมรมสมาคมเกี่ยวกับนกเขาชวา ไม่มีหลักฐานปรากฏยืนยันได้ว่าการจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ซึ่งคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมเลี้ยงไว้ประดับบ้านเช่นกันถือเป็นมงคล  โดยเลือกนกเขาที่เข้าลักษณะตามตำรา และมีเสียงดีตามลักษณะนิยม  ซึ่งเมื่อมีการจัดการแข่งขันครั้งใด ก็จะเห็นคนเหล่านี้นำนกเข้าร่วมแข่งขันกันอย่างคับคั่ง และถือโอกาสพบปะพูดคุยกันในกลุ่ม “ชวาวงค์” อย่างสนิทสนม ไม่เฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ความรู้สึกเช่นนี้ ยังได้แพร่ขยายไปยังคนไทยในภูมิภาคอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน เช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ทั้งนี้เป็นเพราะคนเหล่านี้ต่างมีความสนใจในสิ่งเดียวกัน   และเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้เลี้ยงนกเขาว่า การแข่งขันนกเขาชวาเสียงที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่สนใจของผู้นิยมเลี้ยงนกมากที่สุด คือ การแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี 

จากความริเริ่มของ เทศบาลเมืองยะลาที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ร่วมกับจังหวัดยะลา ชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงจังหวัดยะลา และชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงภาคใต้ โดยการสนับสนุนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ได้ร่วมกันพัฒนาสนามแข่งขัน และกติกาการแข่งขันให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น ตลอดจนความคิดที่จะพัฒนาเสริมสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นในด้านเศรษฐกิจจึงได้กำหนดให้มีการแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงชนะเลิศในระดับอาเซียน ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2529 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยการใช้ชื่อในการจัดการแข่งขันว่า “งานแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงแชมป์กลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 1” สาเหตุที่ใช้คำว่า “อาเซียน” เพราะมีประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้าร่วมแข่งขันด้วย คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งประเทศดังกล่าวนี้มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้มีการแลกเปลี่ยน สนับสนุนเกื้อกูลกันในเรื่องต่าง ๆ มาตลอด ที่สำคัญคือ มีความชื่นชอบ และนิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียงเหมือนกัน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม คือ สังคมนกเขาชวาเสียง หรือ “กลุ่มชวาวงค์” นั่นเอง

ในปัจจุบัน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน ได้มีการแข่งขันในกลุ่มเล็ก ๆ อยู่เป็นประจำ และ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจัดการแข่งขันใหญ่ในระดับประเทศและนานาชาติ ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งการแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวาแต่ละครั้ง จะมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของนก ผู้ชมและผู้ที่สนใจจะเสาะหาพันธุ์นกไว้เป็นเจ้าของ   ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และการประกอบอาชีพที่ต่อเนื่องจากการเพาะเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์นก คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงินไม่น้อย  หลักเกณฑ์การแข่งขันนกเขาชวาเสียงมีการแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทเสียง คือ เสียงใหญ่ เสียงกลาง และเสียงเล็ก นกที่ขันมีปลายเสียงหรือกังวานถือได้ว่าเป็นนกที่ดี ซึ่งการพิจารณาจะต้องดูลีลาจังหวะการขัน เช่น ช้า เร็ว อีกด้วย  ซึ่งนกที่ได้รับรางวัล จะสร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้เลี้ยงและพื้นที่ ซึ่งจะมีราคาซื้อขายกันเป็นตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท ผู้ที่มีนกเขาดีและชนะการประกวดในแต่ละครั้งราคานกก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขันในแต่ละครั้งใช่ว่าจะหวังเพียงเพื่อเงินรางวัล หากแต่ยังนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปทำประโยชน์เพื่อสังคมอีกด้วย

และเหนือสิ่งอื่นใดการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า  นกเขาชวาเสียง หาใช่เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเชิงเศรษฐกิจของผู้ที่หลงใหลในน้ำเสียงอันไพเราะแต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากแต่มันคือสื่อกลางในการนำพาผู้คนทุกเชื้อชาติ ชนชั้น มาพบปะ พูดคุย ถามทุกข์สุขฉันท์พี่น้อง พัฒนาความสัมพันธ์ อันจะเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่ ที่หมายปลายทางของคำว่า “สันติสุข” ในสังคมชายแดนใต้ ผ่านนกตัวเล็กๆ ที่ดำรงอยู่คู่วิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเนิ่นนาน  ให้ร่มเย็นสืบต่อไป นี่คือบทบาทที่สำคัญของ นกเขาชวาเสียง “นกสันติภาพชายแดนใต้”