พท.ผนึกก้าวไกลยื่นใหม่4ญัตติ “ชวน” รับบรรจุทัน 23-24กันยาฯ ด้าน ‘พีระพันธุ์’ แจงข้อเสียรธน.ปี 60 ยกเลิกม.272 ปมเลือกนายกฯ

พท.ผนึกก้าวไกลยื่นใหม่4ญัตติ “ชวน” รับบรรจุทัน 23-24กันยาฯ ด้าน ‘พีระพันธุ์’ แจงข้อเสียรธน.ปี 60 ยกเลิกม.272 ปมเลือกนายกฯ

พรรคร่วมฝ่ายค้านยังคงเดินหน้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมแกนนำ 5 พรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ญัตติ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา เกียกกาย

โดยนายสมพงษ์กล่าวว่า ฝ่ายค้าน มีประสงค์ยื่นญัตติร่วมกันทั้งหมด 4 ญัตติ โดยแบ่งเป็น 1.มาตรา 272 ซึ่งขมวดมาตรา 159 เข้าไปด้วย 2.มาตรา 270-271 ที่เกี่ยวกับการปฏิรูป 3.มาตรา 279 ว่าด้วยอำนาจของ คสช. และ 4.การแก้ไขระบบการเลือกตั้ง โดยนำเอาระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้ คือใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเลือกพรรคและเลือกเขต
นายชวนกล่าวว่า เนื่องจากมีฉบับของพรรคฝ่ายค้านฉบับแรกที่ยื่นโดยพรรค พท.บรรจุไปแล้ว ตามข้อบังคับเมื่อได้รับญัตติจะต้องวินิจฉัยภายใน 15 วัน ดังนั้น ฉบับแรกจึงได้สั่งบรรจุภายใน 15 วัน ส่วนฉบับที่ 2 คือฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างที่วุฒิสภากำลังพิจารณา เพราะเป็นการประชุมร่วม วันที่ 11 กันยายนนี้ จะส่งกลับมาเพื่อให้บรรจุต่อไป ส่วน 4 ฉบับที่เสนอวันนี้จะมอบให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความถูกต้องตามระเบียบ รวมถึงตรวจรายชื่อว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็จะรีบสั่งการให้บรรจุระเบียบวาระได้พร้อมกัน เพราะได้กำหนดวันไว้แล้วล่วงหน้าว่าญัตตินี้จะได้เข้าพิจารณาในวันที่ 23-24 กันยายนนี้

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท.และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า แต่ละร่างมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 174 คน แต่ละฉบับใกล้เคียงกัน อาจจะไม่ตรงเป๊ะ แต่ 6 พรรคครบถ้วน
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จ

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ชี้แจงรายละเอียดของรายงาน มีสาระสำคัญ อาทิ การเสนอการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติให้เร็วขึ้นเป็นทุก 1-2 ปี ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ การเสนอการเลือกตั้งกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ โดยเห็นว่าแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความเหมาะสม และไม่เห็นด้วยให้เสนอชื่อนายกฯในรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ยกเลิกวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือแก้ไขวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วน ส.ว.นั้นควรให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ข้าราชการระดับสูงได้ ตลอดจนแก้ไขที่มา ส.ว.ไม่ให้เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ขณะเดียวกันเสนอให้ผู้เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้ในเวลาเดียวกัน

“ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 นั้น เสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.เห็นว่าควรยกเลิกเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 เป็นการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ 2 และจัดให้มีการออกเสียงประชามติ หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ส่วนเรื่องปฏิรูปประเทศนั้น ควรนำออกจากรัฐธรรมนูญไปเลย เพราะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศล่าช้า แต่ควรกำหนดให้การปฏิรูปประเทศไปอยู่ในกฎหมายรองๆ ลงไป ส่วนยุทธศาสตร์ชาติควรปรับปรุงให้แก้ไขได้ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม”นายพีระพันธุ์กล่าว
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า “สำหรับบทเฉพาะกาล มาตรา 269 เรื่องที่มา ส.ว.นั้น มีความเห็น 2 แนวทางคือ 1.ยกเลิกวุฒิสภาที่มาจากบทเฉพาะกาลตามมาตรา 269 และ 2.วุฒิสภาชุดปัจจุบันให้ทำหน้าที่ต่อไปจนครบ 5 ปี แต่อาจปรับบทบาทหน้าที่ เช่น เรื่องการโหวตเลือกนายกฯ การปฏิรูปประเทศ และมาตรา 272 เรื่องการให้ ส.ว.มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯนั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรให้ยกเลิกมาตรา 272 โดยให้การเลือกนายกฯทำได้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎร”