เอกชน เตือน! นายกฯอย่าหลงกล-เสียคนนั่งควบคลัง มอง3มาตรการกระตุ้นศก.เป็นแบบรายวันคิดไปทำไป

เอกชน มอง 3 มาตรการกระตุ้นศก. เป็นมาตรการแบบรายวัน คิดไปทำไป
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เห็นชอบ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า มาตรการที่ออกมาดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นเพียงมาตรการแบบรายวัน คิดไปทำไป ซึ่งการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องยาวนานแน่นอน จึงอยากเห็นมาตรการระยะยาวที่เป็นแบบแผนชัดเจน ว่าเดือนไหน วันไหนจะดำเนินการอย่างไร

นายธนิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยการแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน คนละ 3,000 บาท โดยให้เวลาใช้ 3 เดือน และจะกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท ซึ่งจะเป็นลักษณะร่วมจ่าย ผู้ซื้อจ่าย 50% และรัฐจ่ายให้ 50% โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น มองว่า หากคิดจะช่วยเหลือประชาชนแล้วควรให้เป็นรูปแบบเงิน หรือรูปแบบคูปอง จะตรงจุดมากกว่า และควรกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนว่า เปิดให้เฉพาะร้านค้าหาบเร่แผงลอย หรือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เท่านั้น เพื่อให้เม็ดเงินเกิดการหมุนเวียนอย่างตรงจุด และเพื่อตัดข้อกังวลของหลายฝ่ายที่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น และห้างสรรพสินค้า

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวสิาหกิจ สามารถลาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ก็เห็นด้วย เพราะข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวสิาหกิจ เป็นกลุ่มที่มีกำลังและไม่ตกงานแน่นอน ส่วนพนักงานเอกชนต้องระมัดระวัง เพราะแม้จะมีโครงการนี้แต่ใช่ว่าเขาจะใช้จ่ายเงิน ประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้รับเสียงตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร จึงหวังว่า มาตรการดังล่าวจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี และสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างดียิ่งขึ้น

“ไม่มั่นใจว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 หรือไม่ ตอนนี้จึงเป็นโอกาสของเราที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะในแถบประเทศเพื่อนบ้านก็ติดโควิด-19 กันงอมแงม” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม (ระดับปริญญาตรี, ปวส. และ ปวช.) ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 260,000 อัตรา โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา เป็นเวลา 12 เดือน (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) ตามอัตราค่าจ้างปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ระดับปวส. 11,500 บาทต่อเดือน และระดับ ปวช. 9,400 บาทต่อเดือน ก็เห็นด้วย เพราะเป็นมาตรการที่ดี และพยายามสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ไม่เห็นด้วย คือ ไม่ควรใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับผู้ที่ตกงานไม่จำเป็นต้องได้ 15,000 บาท อาจเป็นอัตรา 75% ของอัตราค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายสามารถทำได้ โดยอาจจะปรับเวลาการทำงานให้สอดรับกับอัตราค่าจ้าง เช่น มีเวลาการทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสนับสนุนเงินค่าจ้างลดลง และนำเงินไปช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม แต่หากสถานประกอบการจะจ้างเต็มวันก็สามารถทำได้

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จากที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี จะนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยนั้น มองว่า นายกรัฐมนตรีอย่าหลงกล เพราะจะเสียคน เศรษฐกิจแบบนี้แก้ไขยาก แค่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็เปลืองตัวมากพออยู่แล้ว

“เศรษฐกิจแบบนี้ยอมรับว่าแก้ยาก ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ และฝ่ายการเมือง ฝ่ายค้านก็เล่นงาน ปิดกั้นข้อมูลระหว่างกัน คนไม่มีกินก็โทษรัฐบาล ที่ดีนายกรัฐมนตรีควรลอยตัวนิดนึง ถ้ามานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับรองว่าเจ็บตัวแน่นอน” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เสนอตัวเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั้น มองว่า เขาอาจจะเก่งเรื่องการเมือง อยู่ได้ทุกกระทรวง แต่กับเรื่องเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตไม่เหมือนกัน เพราะท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต ย่อมต้องการมืออาชีพเข้ามาแก้ไขปัญหา อย่าง นายปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ถูกเสนอชื่อก่อนหน้านี้ เพราะด้วยประสบการณ์การทำงาน เพียงเห็นรายชื่อนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติ ก็มีความเชื่อมั่น และมีความหวัง

“เขาเก่งไหมก็เก่ง แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะหากอยู่ในสถานการณ์ปกติ ผมว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้ แต่เวลานี้ต้องการคนที่จะมาผ่าตัด อย่าพูดอะไรที่ฟังยาก จับต้องไม่ได้ ในเวลานี้ต้องพูดตรงๆ ต้องการหมอผ่าตัด ไม่ต้องการหมอระดับนักบริหาร” นายธนิต กล่าว

ขณะที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวรประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ ศบศ. ด้วยอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หากหมดตัวเลือกแล้ว ก็มีความเหมาะสม แต่ที่จริงแล้วขณะนี้ต้องเป็นนักการคลัง ไม่ได้ต้องการนักบริหาร เปรียบเหมือนตอนนี้ประเทศป่วยเป็นไส้ติ่ง ไปโรงพยาบาลย่อมต้องการปรึกษาหมอผ่าตัด มากกว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่ในเวลาปกติก็อยากปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เป็นนักบริหาร

“หากหามือนักการคลังไม่ได้ นายไพรินทร์ ถือว่าโอเค เพราะผ่านการบริหารงานธุรกิจระดับแสนล้านบาท จะอยู่ที่ไหนก็ได้ เพียงแต่เวลานี้ไม่ใช่เวลาของนักบริหาร เป็นเวลาของนักผ่าตัด แต่ถ้าหมดตัวเลือกก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่ง แต่ส่วนตัวอยากให้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เพราะเป็นมืออาชีพ เข้าใจปัญหาอย่างตรงจุด ทำให้เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหา และประคองสถานการณ์เศรษฐกิจได้” นายธนิต กล่าว