เปิดไทม์ไลน์ ‘ชาวฮ่องกง’ ติดโควิด-19 ซ้ำ ห่างกัน 142 วัน หวั่นวัคซีนอาจสกัดไม่อยู่!

เปิดไทม์ไลน์ ‘ชาวฮ่องกง’ ติดโควิด-19 ซ้ำ ห่างกัน 142 วัน หวั่นวัคซีนอาจสกัดไม่อยู่!

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ศ.นพ.ธีวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยมีอาการป่วยแบบแสดงอาการและรักษาหายแล้ว โดยได้เปิดเผยรายงานลำดับอาการป่วยของชายชาวฮ่องกง อายุ 33 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงแต่ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาห่างกัน 142 วัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ครั้งที่สองหลังจากที่ติดเชื้อแบบมีอาการครั้งแรกไปแล้ว ครั้งที่ 2 จากเชื้อที่ได้ใหม่เอี่ยม ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อครั้งที่ 2 ที่อาจจะเกิดจาก เชื้อเดิมที่หลบซ่อนอยู่และปะทุขึ้นมาใหม่ หรือเกิดจากเชื้อใหม่ที่หน้าตาต่างจากเดิม

“จากรายงานผู้ป่วยจากฮ่องกงอายุ 33 ปี แข็งแรงดีติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกมีอาการไข้มีเสมหะเจ็บคอและปวดศรีษะสามวัน และได้รับการยืนยันจากการตรวจด้วยพีซีอาร์ในวันที่ 26 มีนาคม รับตัวเข้าโรงพยาบาลวันที่ 29 มีนาคมโดยที่อาการต่างๆดีขึ้น และออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 14 เมษายน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

สำหรับการติดเชื้อครั้งที่2 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เป็นการติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการ ทั้งนี้โดยผู้ป่วยรายเดิมได้เดินทางไปที่ประเทศสเปน และเมื่อกลับมาได้ตรวจเจอเชื้อในวันที่ 15 สิงหาคม และได้เข้ารับตัวในโรงพยาบาลใหม่ แต่แม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม พบว่าเชื้อไวรัสที่อยู่ทางช่องจมูกและลำคอด้านหลังมีปริมาณมากพอสมควร Ct =26.69 และค่าการอักเสบในเลือด CRP สูง = 8.6 และค่อยๆลดลงตามลำดับ โดยที่ยังพบความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในเลือด มีโปแตสเซียมต่ำ ผู้ป่วยไม่ได้รับยาต้านไวรัสใดๆ

“การตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือดระหว่างอยู่โรงพยาบาลวันที่หนึ่งถึงวันที่สามไม่พบภูมิคุ้มกัน IgG ต่อ nucleoprotein แต่ภูมิคุ้มกันเริ่มปรากฏในวันที่ห้า การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสในครั้งนี้พบว่าผิดแผกแตกต่างจากไวรัสที่เจอในเดือนมีนาคมโดยไวรัสที่ติดใหม่นี้อยู่ในคนละกลุ่ม (clade/lineage) โดยไวรัสครั้งแรกนั้นมี stop codon ที่ตำแหน่ง 64 ในท่อน orf8 ทำให้มีtruncation ของ 58 กรดอมิโนไวรัสที่ได้มาใหม่มีรหัสพันธุกรรมและกรดอะมิโนที่แตกต่างไป 23 และ 13 ตัว ตามลำดับ ในโปรตีน 9 ชนิด ซึ่งรวมถึงโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเซลล์ของร่างกายทั้งT และ B cells และมีการผันแปรของรหัสพันธุกรรมที่ตำแหน่งของ nsp6 L142F ซึ่งพบได้ยาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า

“การติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ห่างจากครั้งแรก 142 วัน โดยที่การติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ แม้ไม่มีอาการแต่ปริมาณของไวรัสที่ตรวจเจอ มีปริมาณสูงและค่อยๆลดลงตามลำดับและมีการพัฒนาการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดนี้ส่อให้เห็นถึงการติดเชื้อใหม่จริง”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากลำดับอาการของผู้ป่วยชาวฮ่องกงรายนี้ คณะผู้รายงานได้ให้ความเห็นว่าไวรัสโควิด-19 น่าจะวนเวียนและแพร่กระจายไปอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคนที่ติดเชื้อไปแล้วจะมีจำนวนมากก็ตามจนที่เรียกว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ หรือแม้แต่ได้รับวัคซีน แต่อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อใหม่ได้


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)