4 หน่วยวิจัย ร้องถูกอนุกมธ.ตัดงบ 600 ล. ‘กมธ.งบฯ64’ รับลูก ชงอุทธรณ์ชุดใหญ่ 26 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่รัฐสภา เกียกกาย ตัวแทนของหน่วยงานวิจัย 4 แห่ง อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ภายหลัง คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น ในกมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาตัดลดงบประมาณในส่วนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 600 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่องบจัดทำวิจัยที่จะช่วยปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆได้

ผู้แทนของหน่วยงานวิจัย เปิดเผยว่า งบประมาณสนับสนุนหน่วยงานวิจัย ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามที่คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ฯ ได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น คณะอนุกมธ.ฯ มีข้อสังเกตว่าโครงการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่เสนอจำนวนหนึ่งขาดความชัดเจน ไม่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศได้ และโครงการวิจัยฯ จำนวนมากยังไม่ได้ใช้บุคลากรวิจัยในหน่วยงานวิจัยภาครัฐให้เป็นประโยชน์

ควรให้หน่วยงานวิจัยภาครัฐเหล่านี้ ได้ดำเนินการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมตามบทบาท อำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ ความสามารถ ประกอบกับความคล่องตัวของการดำเนินงานตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ที่มุ่งเป้าเพื่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเร็ว เช่น การวิจัยด้าน Artificial Intelligence (AI) ของประเทศ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ

ทั้งนี้คณะอนุกมธ.ฯ ไม่ได้พิจารณารายละเอียดรายโครงการ และมีมติปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในภาพรวมจำนวนทั้งสิ้น 600 ล้านบาท ต่อมาในคราวการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมได้พิจารณาปรับลดงบประมาณในส่วนของกองทุนฯ ปี 2564 จำนวน 600 ล้านบาท

โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดงบประมาณในส่วนของการสนับสนุนหน่วยงานวิจัยต่างๆ ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (Basic Function Fund) กว่าร้อยละ 80 ของวงเงินรวมที่ปรับลด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานของหน่วยงานวิจัย โดยการพิจารณาของกสว. ไม่ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานเข้าชี้แจงหรือให้ข้อมูลใดๆ ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานฯ ถูกปรับลดงบประมาณเป็นจำนวนทั้งสิ้น 78 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานวิจัยของสำนักงานฯ ในปี พ.ศ.2564เป็นอย่างมาก จึงขอชี้แจงผลกระทบจากการถูกปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ ดังนี้

ผู้แทนของหน่วยงานวิจัย ระบุด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2563 สำนักงานฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในส่วนนี้ (สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอกมธ.งบประมาณฯ) เพื่อดำเนินงานตามบทบาท อำนาจหน้าที่ ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะจากการรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของสำนักงานฯต่อ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา รวมถึงข้อสั่งการ และมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ สำนักงานฯ ดำเนินการในปี 2563 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,424.2528 ล้านบาท

ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 วงเงินดังกล่าวได้ย้ายจากฐานงบประมาณยุทธศาตร์วิจัยของสำนักงานฯ ไปรวมที่กองทุนฯ แต่กสว.ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณดำเนินการวิจัยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ให้สำนักงานฯ เพียง 1,028.8177 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงมากกว่า 395 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 27 โดยการพิจารณาของกสว. ไม่ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานเข้าชี้แจงหรือให้ข้อมูลใด ๆ

สำนักงานฯ มีพันธกิจในการมุ่งสร้างการวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) เป็นผู้กำกับทิศทางการดำเนินงาน ต้องรายงานผลการดำเนินงานและรับข้อสังเกต ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน จากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้การดำเนินงานของสำนักงานฯ ยังต้องสนองต่อข้อสั่งการ และมติครม.ที่มอบหมายให้ สำนักงานฯ ดำเนินการตลอดทั้งปี ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของสำนักงานฯ ทุก 1 บาท สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจำนวน 6 บาท (6 เท่า)

สำนักงานฯ มีนักวิจัยเป็นจำนวนมากและมีระบบการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว ทำให้สามารถผลิตผลงานวิจัยและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สามารถช่วยประเทศในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ หรือภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที เช่น สถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานฯ สามารถระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในการปรับเปลี่ยนแผนงานวิจัยได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นรายโครงการ

ผู้แทนจากหน่วยงานวิจัย เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้สำนักงานฯ ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้พัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (National Quality Infrastructure) ของประเทศอีกหลายแห่ง เช่น ธนาคารทรัพยากรชีวภาพ (National BioBank) ศูนย์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์วิจัยโอมิกส์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบไซเบอร์กายภาพ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบทางพิษและชีววิทยาเป็นต้น จะสามารถรองรับการทำงานวิจัยฯ ต่างๆ

ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในและต่างประเทศ ในการเร่งผลิตผลงานวิจัย และเร่งการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตามนโยบายของรัฐบาล และในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานฯ ก็จะเปิดให้บริการคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขนาดใหญ่ (Super Computer) เพื่อรองรับงานวิจัยด้าน Data Analytics และ Artificial Intelligence (AI) แก่นักวิจัยทั่วประเทศ อีกด้วย

ผลการพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ในส่วนของสำนักงานฯ ในกองทุนฯจำนวน 528 ล้านบาท ในครั้งนี้ เมื่อรวมกับงบประมาณที่ถูกปรับลดไปก่อนหน้าจำนวน 395.4391 ล้านบาท ทำให้สำนักงานฯ มีงบประมาณการวิจัยในปี พ.ศ.2564 ลดลงไป 473.4391 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนงบประมาณที่ได้รับลดลงกว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มากกว่า 33% ทำให้สำนักงานฯ ไม่สามารถดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และข้อสังเกตต่างๆที่ได้รับจาก กวทช. รัฐบาล และรัฐสภาได้ ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสที่จะใช้ศักยภาพของนักวิจัยสวทช.ในการผลิตผลงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดจนการช่วยแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านตัวแทนกมธ.วิสามัญงบฯปี64 กล่าวว่า ปัญหาของหน่วยงานด้านการทำวิจัยถูกปรับลดงบประมาณนั้น สาเหตุมาจากยุบรวมงบประมาณของหน่วยงานด้านวิจัย มาอยู่ภายใต้สังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปี 64 ต่างจากในปี 2563 ที่หน่วยงานด้านวิจัยของแต่ละหน่วยงานสามารถเสนอคำขอมาที่กมธ.วิสามัญงบฯได้ ประเด็นคือ ในงบประมาณปี 64 ที่ สกสว.เสนอมาขอรับการจัดสรรนั้น มีจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท

แต่มีอนุกมธ.ฝึกอบรมฯ คนหนึ่งที่มีความสันพันธ์ที่ดีกับกสว.โดยอาจมีผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างกัน พยายามจะทำให้กมธ.เห็นว่าได้พิจารณาปรับลดงบของ สกสว.ไป 600 ล้านบาท แต่สกสว. ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะสกสว.เป็นหน่วยงานที่คุมงบประมาณด้านการวิจัยไว้ทั้งหมด และจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะจัดสรรงบประมาณการวิจัย ให้กับหน่วยงานต่างๆได้รับจำนวนเท่าใด การไปตัดงบประมาณของ สกสว. 600 ล้านบาท ทำให้สกสว.ต้องไปปรับลดงบประมาณ ของหน่วยงานวิจัยต่างๆให้ลดลงไปอีก

ทั้งที่แต่ละหน่วยก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยน้อยอยู่แล้ว ความจริงรัฐบาลและสกสว. จะต้องสนับสนุนงบประมาณด้านการทำวิจัย เพื่อให้ประเทศชาติมีการพัฒนาในนวัตกรรมใหม่และรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย อย่างไรก็ตามในการประชุมกมธ.วิสามัญงบฯปี 64 ในวันที่ 26 สิงหาคม ตนจะเสนอเรื่องขออุทธรณ์ การปรับลดงบประมานของสกสว. และจะอภิปรายชี้กมธ.งบฯ64 เห็นถึงความสำคัญของงบประมาณในการจัดทำวิจัยของประเทศว่าทำไมถึงไม่ควรไปตัดงบประมาณด้านการทำวิจัยของประเทศ