ชุมพรโมเดล! จุรินทร์ เปิดศูนย์ส่งออกผลไม้’วันสต๊อป เซอร์วิส’ครั้งแรก นำรายได้เข้าประเทศเพิ่ม

ชาวสวนผลไม้ยกนิ้ว! จุรินทร์ สร้างวันประวัติศาสตร์ ชู”ชุมพรโมเดล”เปิด”ศูนย์บริการส่งออกผลไม้ แบบวันสต๊อป เซอร์วิส”ครั้งแรก ขณะที่ทุเรียนแค่ครึ่งปีส่งออกแล้ว 47,000 ล้าน +88%

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายธีระ อนันตเสรีวิทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายบุณยฤทธิ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายโกเมทย์ ตันติประวรรณ ผู้บริหารตลาดมรกต ร่วมด้วย นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ อดีต ส.ส.ชุมพร
นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดศูนย์บริการส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ
กระทรวงพาณิชย์ (One stop Fruit Export Center (OSFEC)) ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา มาตรฐานสินค้าเกษตร (AGQC) ตลาดกลางผัก และผลไม้ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน จ. ชุมพร (ตลาดมรกต)

นายจุรินทร์ กล่าวว่าวันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นครั้งแรกที่เรามีศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จเพื่อให้บริการด้านการส่งออกผลไม้ของประเทศเกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร ถัดจากนี้ไปจะใช้เป็นชุมพรโมเดล เพื่อที่จะนำไปใช้ในอีกหลายพื้นที่ที่จำเป็นทั่วทั้งประเทศได้มีการเตรียมการไว้แล้วที่จังหวัดราชบุรี ปทุมธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี

สำหรับ “ชุมพรโมเดล” คือต่อไปนี้ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ไปสร้างอาคารใหญ่โตแล้วตั้งศูนย์ one stop service เพื่อให้บริการการส่งออกผักและผลไม้ของประเทศ แต่จะใช้สถานที่ของเอกชนที่มีความพร้อมอยู่แล้วและแบ่งส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นศูนย์ให้บริการการส่งออกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมาอยู่ร่วมกันในจุดเดียว เพื่อให้บริการกับผู้ส่งออกและเกษตรกร รวมทั้งล้งผู้รวบรวมผลไม้ ที่ตลาดมรกตนี้จัดเป็นศูนย์ส่งออกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จศูนย์แรกของประเทศ  โดยการร่วมมืออย่างเข้มแข็งของกรมการค้าภายในและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว. ) เอสเอ็มอีแบงค์ ซีซีไอซี กรมศุลกากรและเซ็นทรัลแลป และกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ส่งออก

การดำเนินการทั้งการคัดแยกขนาด คุณภาพ ตรวจสอบสารตกค้าง โรคพืช แมลง และเก็บรักษา รวมทั้งการบรรจุลงรถห้องเย็น เพื่อการส่งออกและไม่ต้องไปตรวจที่ด่านชายแดน เหมือนที่เคยทำมาในอดีตเพื่อไปประเทศจีน การให้การรับรองของไทยเราจะมีคิวอาร์โค้ด จะเป็นการรับรองให้การรับรองอัตโนมัติจากทางการของจีนด้วยไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อนอีกต่อไป เมื่อไปถึงด่านก็จะได้เลนพิเศษจากเรียกว่า กรีนเลน กระบวนการจะสั้นลง ค่าใช้จ่ายถูกลงจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้ คล่องตัวขึ้น ล้งและเกษตรกรซึ่งเป็นต้นทางก็จะมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มูลค่าการส่งออกคล่องตัวขึ้น ประเทศไทยส่งออกผลไม้ปีละประมาณ 120,000 ล้านบาท ผลไม้ที่ส่งออกมากคือทุเรียน ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนมากเป็นลำดับหนึ่งของโลก ปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกได้มูลค่า 50,800 ล้านบาท แต่ทำปีนี้ ครึ่งปีส่งออกไปแล้ว 47,000 ล้านบาท ทั้งที่ประสบวิกฤตแต่กระบวนการในการเร่งรัดการเปิดด่าน โดยเฉพาะการเปิดด่านเวียดนามไปจีน จะช่วยให้กระบวนการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนคล่องตัวขึ้น ผลไม้ลำดับที่สองคือลำไย ปีที่แล้วมูลค่าส่งออก 30,100 ล้านบาท ลำดับสามมังคุด ปีที่แล้วส่งออก 16,700 ล้านบาท สำหรับปีนี้ครึ่งปีส่งออกมูลค่า 10,400 ล้านบาท

” การเปิดศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ วันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำรายได้เข้าประเทศแล้วจะนำรายได้มาสู่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ศูนย์บริการเกิดขึ้นและจะได้ใช้ชุมพรโมเดลนี้เป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่นต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวกรมการค้าภายใน ระบุว่า ตลาดมรกต ให้บริการคัดแยก ตัวแทนส่งออก และตรวจโรคพืช สารตกค้าง และบริการพิธีการส่งออกเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ มีผลไม้หลักคือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด และเงาะ โดยในช่วงแรกยังไม่คิดค่าบริการและค่าสถานที่ ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในการตรวจด้านสุขอนามัย และมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร และมีสำนักงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) และ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) มาให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว และหน่วยงานเอกชนเช่น บริษัท CCIC (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน เพื่อให้บริการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรด้วย

โดย สสว.ทำหน้าที ส่งเสริมการตลาดและเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ ด้วยตอนนี้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเอสเอ็มอีแบงค์ ส่งเสริมการขับเคลื่อนไปสู่สังคมผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด (Central lab) มี 6 ศูนย์ทั่วประเทศ สามารถทดสอบสินค้าได้เร็วสุด 24 ชม ช้าสุด 35 วัน และให้การรับรองมาตรฐาน GAP GMP/HACCP ตรวจยาฆ่าแมลง โรค สารโลหะหนักโดยสุ่มตัวอย่างในตู้สินค้า ทางด้านบริษัท CCIT ประเทศไทย คือ หากติดสติกเกอร์ QR Code แล้วจะได้เข้าช่อง fast track ไม่ต้องเปิดค้นตู้อีก ทั้งในไทยและประเทศปลายทาง คือบริษัทที่ให้บริการด้านการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พร้อมลดระยะเวลาหรือขั้นตอนในการส่งออก