กมธ.ชงนิรโทษกรรม ปลดล็อกขัดแย้ง บี้รัฐบาลเร่งแก้รธน.ยุติสืบทอดอำนาจ

กมธ.ชงนิรโทษกรรม ปลดล็อกขัดแย้ง บี้รัฐบาลเร่งแก้รธน.ยุติสืบทอดอำนาจ ให้กองทัพปฏิญาณตนไม่ทำรัฐประหาร

วันนี้ (13 ส.ค.) จับตาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ” ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเสนอแนวทางสร้างความปรองดองและสมานฉันท์คนในชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม มีเงื่อนไขคือ การนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น คือ การกระทำต่าง ๆ ของประชาชนที่ทำไปเพื่อแสดงออกถึงความคิดทางการเมือง หรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการทำผิดคดีอาญา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และคดีทุจริตคอร์รัปชัน เสนอให้ตราเป็นกฎหมายพิเศษ เช่น การออกพ.ร.ก. หรือการออก พ.ร.บ.

กมธ.ยังเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกออกแบบวางกติกาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ เสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้นายกรัฐมนตรีระบุรายละเอียดเรื่องกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อแก้ไขเสร็จ ควรยุบสภาทันทีแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ หากปล่อยเวลาให้นานไปเท่าใด การแก้ปัญหาความขัดแย้งจะเป็นไปได้ยาก ขณะที่เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อ เสนอให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อคู่ขัดแย้ง

ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น รัฐบาลต้องเยียวยาอย่างจริงจัง เป็นระบบ ทั่วถึงและต่อเนื่อง ครอบคลุมความเสียหายทางร่างกายและจิตใจ และชดเชยให้กลับคืนสู่สภาเดิมมากที่สุด โดยไม่จำกัดการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความขัดแย้งทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ผู้นำชุมนุม ฝ่ายความมั่นคง สื่อมวลชน ขอโทษต่อสาธารณชน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศในช่วงสถานการณ์รุนแรง หรือนายกฯที่บริหารประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำรัฐบาล เนื่องจากรัฐมีความบกพร่อง ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามครรลองสันติวิธี

กมธ.ยังเสนอถึงการทำหน้าที่ของกองทัพควรทำภารกิจของกองทัพ งดเว้นการทำรัฐประหารหรือแทรกแซงทางการเมือง เช่น การใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล การข่มขู่ใช้กำลังหรือยึดอำนาจ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปลูกฝังจิตสำนึกทหารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในการถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพควรกำหนดว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร รวมถึงยังมีข้อเสนอไปยังผู้นำการชุมนุมว่า แม้เสรีภาพการชุมชุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะทำได้ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รายงานการศึกษาเรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ”ที่กมธ.จะนำเข้าสภาในวันที่ 13 สิงหาคมนั้น ได้เชิญฝ่ายต่าง ๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาให้ข้อมูลต่อกมธ. เพื่อหาข้อสรุปการสร้างความปรองดอง ยุติความขัดแย้งคนในชาติที่ยาวนานมา 16 ปี

ข้อสรุปหนึ่งในนั้นคือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมการกระทำผิดคดีอาญา ความผิดตามมาตรา 112 และคดีทุจริต การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การเกี้ยเซี๊ยะระหว่างผู้กระทำผิด แต่ผู้กระทำผิดต้องมีสำนึกรับผิด ออกมาขอโทษต่อสังคม ทั้งผู้นำรัฐบาลในอดีต และรัฐบาลปัจจุบัน เท่าที่ได้ฟังข้อมูลจากคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายต่างพร้อมขอโทษต่อสังคม การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความสามัคคีให้บ้านเมืองพ้นจากวิกฤติหลังจากนี้ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจโควิดถือว่าสาหัสแล้ว ถ้ายังมีเรื่องความแตกแยกอีก จะยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น อยากให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องการสร้างความปรองดองที่กมธ.เสนอไปสานต่ออย่างจริงจัง