บัวแก้วเผยเริ่มมีสถานที่กักกันเฉพาะองค์กร รองรับคนเดินทางเข้าไทย

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเริ่มดำเนินการของสถานที่กักกันเชื้อโรคในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine- OQ) สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยว่า ในชั้นนี้เริ่มมีองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายราย ได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการจัดตั้ง OQ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรองรับกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ชาวต่างชาติที่มี work permit และเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศในไทย โดยองค์กรหรือหน่วยงานนั้น จะต้องรับผิดชอบการจัดหาสถานที่กักกันและโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (partner) ในพื้นที่ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการ ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลคุณภาพในการป้องกันและควบคุมโรคที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการใช้ OQ จะเป็นการลดภาระด้านงบประมาณและบุคลากรของทางการไทย และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เดินทางเข้าประเทศกลุ่มต่างๆ ที่จะมีจำนวนมากขึ้นในมาตรการผ่อนคลายระยะต่อไป
นายเชิดเกียรติกล่าวว่า อาคารที่จะใช้เป็น OQ จะยังต้องผ่านการตรวจประเมินทั้งระบบการควบคุมโรคและวิศวกรรมโครงสร้างอาคาร ตามเงื่อนไขในแนวทางดำเนินการสถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ของกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นการดำเนินการในหลักการเดียวกับ Alternative (National and Local) State Quarantine (ASQ) โดยล่าสุด มีอาคารภายในสถานเอกอัครราชทูตประเทศตะวันตกประจำประเทศไทยที่ได้รับการตรวจประเมินและอนุญาตเป็น OQ แล้ว​ ทั้งนี้ อาคารที่จัดตั้งเป็น OQ ดังกล่าวเป็นอาคารแยก (detached facility) อยู่ห่างจากอาคารสำนักงานและทำเนียบของเอกอัครราชทูต อีกทั้งระยะทางจากประตูของสถานเอกอัครราชทูตถึงตัวอาคารที่ใช้เป็นสถานที่กักกันเชื้อโรคจะมีกล้อง CCTV ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการจะสามารถใช้เฝ้าสังเกตการณ์เข้า-ออกของบุคคลภายนอก รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ที่ถูกกักกันตัวออกจากบริเวณพื้นที่
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตประเทศตะวันตกและครอบครัวรวม 5 คน เดินทางมาถึงประเทศไทยจากนั้นได้เดินทางด้วยรถพยาบาลของโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (partner) ที่มารับบุคคลทั้งหมดจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตรงไปยังสถานที่กักกันเชื้อโรคในรูปแบบ OQ เพื่อกักกันเชื้อโรคเป็นเวลา 14 วัน โดยบุคคลดังกล่าวได้รับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันแรกที่มาถึง ซึ่งผลปรากฏว่าทุกคนมีผลเป็นลบไม่ติดเชื้อ โดยระหว่างการกักกันเชื้อโรค​ 14 วัน ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เพิ่มอีก 2 ครั้ง รวมทั้งการตรวจอุณหภูมิและสังเกตอาการทุกวันโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ ซึ่งจะรายงานผลต่อกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการจะเป็นผู้จัดเก็บขยะติดเชื้อตลอดช่วงเวลากักกันเชื้อโรคด้วย ​
นายเชิดเกียรติกล่าวด้วยว่า รูปแบบการดำเนินการของ OQ จะเป็นทางเลือกในการจัดสถานที่กักกันที่ยังคงรักษามาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการในหลักการเดียวกันกับ ASQ ซึ่งหลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ก็อาจนำมาปรับใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำ OQ ในกรณีอื่น ๆ ได้ต่อไป