“สุพันธุ์”จี้ทีมศก.รับมือโควิด2 เผยกกร.เตรียมจ้างทีมศึกษาซีพีทีพีพีเสนอรบ.เจรจาปี64

“สุพันธุ์”จี้ทีมศก.รับมือโควิด2 เผยกกร.เตรียมจ้างทีมศึกษาซีพีทีพีพีเสนอรบ.เข้าร่วมเจรจาปี64 หลังผลศึกษาเดิมเสียงแตก เอกชนหนุนแต่ภาคสังคมค้านกลัวถ้าเจรจาแต่ไม่เข้าร่วมจะมีปัญหา

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ว่า ต้องการให้เร่งแก้ไขภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภาคธุรกิจทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก ประเมินว่าโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท และหากสถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีผู้ติดเชื้อและกลับมาระบาดรอบ 2 ความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจะมากขึ้นตามไปด้วย

“สิ่งที่กังวลขณะนี้คือการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หลายประเทศควบคุมได้ดี แต่เมื่อเปิดประเทศก็กลับมาระบาดใหม่ทั้งจีน ญี่ปุ่น ดังนั้นไทยเองต้องควบคุมให้ดีและสิ่งสำคัญคือต้องไม่กลับมาปิดประเทศหรือล็อกดาวน์รอบ 2 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นผลกระทบจะรุนแรงมาก ซึ่งประเทศอื่นๆทั่วโลกก็ไม่คิดที่จะกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบแล้ว เพราะรู้ดีว่ามีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก”นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ภายในเดือนกันยายนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เตรียมว่าจ้างบริษัททีมที่ปรึกษามาวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของไทยต่อการเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) ที่เป็นเชิงลึกแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ข้อสรุป คาดว่าจะเสร็จเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำเสนอรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาอีกครั้งในปี 2564 หลังจากที่ไทยไม่สามารถเข้าร่วมเจรจาได้ทันในปีนี้คือ วันที่ 5 สิงหาคม 2563 เพราะคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ยืนยันการที่ไทยขอเข้าร่วมเจรจาไม่ได้หมายถึงการทำข้อตกลงแต่อย่างใด แต่การเข้าร่วมจะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับรู้ความเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาปีนี้ไม่เสียโอกาสมากนัก เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบและชะลอตัว แต่หากเทียบกับเวียดนามที่มีข้อตกลงทั้งเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอส)กับสหภาพยุโรป(อียู) และซีพีทีพีพี ทำให้เวียดนามมีโอกาสและได้เปรียบกว่าไทยในแง่ของการค้าและการลงทุน

แหล่งข่าวจากกกร. กล่าวว่า กรณีซีพีทีพีพี คณะทำงานกกร.ได้เคยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านการประชุมร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ยอมรับว่าภาคส่วนต่างๆ ยังมีความเห็นต่างกัน ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้เข้าไปเจรจาก่อน แต่ภาคประชาสังคมเห็นว่าเวลาที่เข้าไปเจรจาจะเกิดผลกระทบขึ้นหากไม่เข้าร่วมภายหลัง และการเจรจาแม้จะมีข้อดีต่อการค้าและการลงทุนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนแต่ยังมีประเด็นข้อกังวลกรณีการเข้าถึง ยา ของประชาชน ผลกระทบต่อวิถีการใช้เมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

แหล่งข่าวจากกกร. กล่าวว่า ในมุมของเอกชน เมื่อเข้าร่วมซีพีทีพีพี หลายอุตสาหกรรมมีทั้งบวกทั้งลบ จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อให้เกิดข้อมูลที่ลงลึกและสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน