‘ศิริกัญญา’ ชำแหละงบฯ 64 รัฐไม่เล็กลง งบบุคลากรพุ่งทะยานกว่าจีดีพี ตั้งไม่สอดรับวิกฤตโควิด

วันที่ 8 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เพจพรรคก้าวไกล เผยแพร่ไลฟ์การสนทนาระหว่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและที่ปรึกษา กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2564 สัดส่วนพรรคก้าวไกล กับ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพื่อรายงานความคืบหน้าการพิจารณางบประมาณประจำปี พ.ศ.2564 ในชั้นกรรมาธิการที่มีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท
.
ศิริกัญญา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ 8 เดือนแรกของงบประมาณปี 2563  พบว่า รายได้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 2 แสนล้านบาท ตนคิดว่าสถานการณ์จากปี 63 ไปถึงปี 64 สถานการณ์น่าจะย่ำแย่ไม่แพ้กัน เดิมมีการประมาณการไว้ว่าจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 63 จำนวน 469,000 ล้านบาท ก็คงจะต้องกู้มากกว่านั้น ขั้นต่ำอาจต้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท และประมาณการของปี 64 จากงบประมาณเดิมที่ตั้งไว้ในช่วงเกิดโควิดใหม่ๆ จึงเป็นไปได้ว่าจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมากกว่าเดิม เท่ากับว่าการกู้เงิน 2 ปีรวมกันจะมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทแน่นอน ทำให้ พ.ร.ก.เงินกู้ที่ประเทศไทยเพิ่งกู้มากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับการกู้เงินเพียงเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณางบประมาณปี 64 กันอย่างเข้มข้น เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไปเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แต่จากการรับฟังข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง ยังไม่รู้สึกถึงความตระหนักต่อสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ การตั้งงบประมาณยังคงมีเรื่องการก่อสร้างสำนักงานใหม่หรือซื้อรถใหม่ รวมถึงงบบุคลากรของรัฐยังคงมากขึ้นเรื่อยๆและโตเร็วมาก
.
“จำนวนบุคลากรของรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2550 มีจำนวน 2.48 ล้านคน แต่ปัจจุบันมี 2.9 ล้านคน หมายความว่ามีบุคลากรเพิ่มขึ้นมา 4 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1.6 % แต่เราคาดหวังว่าจะต้องเล็กลง โดยเฉพาะรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งค่าใช้จ่ายบุคลากรก็สูงมาก คิดเป็น 25 % ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด และหากรวมกับค่าบำเหน็จบำนาญ ค่าตอบแทนต่างๆ จะคิดเป็น 36 % หมายความว่า งบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 3.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นเงินที่ใช้จ่ายกับบุคลากรภาครัฐเป็นเงินถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งงบในส่วนนี้โตขึ้นเรื่อยๆปีละ 5.7 % ซึ่งโตเร็วกว่า GDP ของประเทศเสียอีก”
.
นอกจากนี้  ศิริกัญญา ยังได้กล่าวถึง ปัญหาในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคับแค้นใจมากของ อปท. เนื่องจากในฝั่งของรายได้ ส่วนกลางบอกว่าในภาพรวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ได้ไปดูว่าแต่ละ อปท.ได้เพิ่มขึ้นหรือได้ลดลง และยังมีกรณีที่เงินงบประมาณควรจะเข้าไปที่ท้องถิ่น แต่ส่วนกลางไปประกาศ พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินลง 90 % ข้อเท็จจริงคือส่วนกลางไม่เสียอะไรเลยแต่ได้ยังได้หน้าจากประชาชน ส่วนคนที่เสียรายได้ในการนำไปพัฒนาพื้นที่ก็คือท้องถิ่น  มีการประมาณการกันว่ารวมทุก อปท.จะสูญเสียรายได้ทั้งหมด 34,500 ล้านบาท แต่ส่วนกลางไม่มีการตั้งหางบประมาณมาชดเชยให้ ซึ่งจะทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังลงคลอง
.
ด้าน ธนาธร กล่าวว่า เงินกู้โดยตัวเองไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากเป็นการกู้มาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขัน กู้มาเพื่อดูแลชีวติความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การออกแบบนโยบายสาธารณะต้องเป็นลักษณะที่มองเห็นปัญหาของประเทศและตั้งอยู่บนฐานคิดว่าจะนำงบประมาณที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไร
.
“สิ่งที่ต้องสังเกตคือการใช้งบประมาณด้านบุคลากร เราพบว่างบประมาณของข้าราชการโตปีละกว่า 5.7% โตกว่า GDP ของประเทศ บุคลากรกระทรวงกลาโหมที่ไม่นับทหารเกณฑ์ มีจำนวนสูงถึง 480,000 คน หากย้อนกลับไปตอนปี 2560 มีบุคลากรกระทรวงกลาโหมจำนวน 396,000 คน หมายความว่า 3 ปี เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 9 หมื่นคน หากดูพยาบาลวิชาชีพ ในปี 2559 มีจำนวน 108,000 คน ปี 2564 มีอยู่ประมาณ 118,000 คน หมายความว่าเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 หมื่นคน คำถามคือ งบประมาณที่เรามีอยู่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศหรือไม่ ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีภัยคุกคามทางทหาร ดังนั้นไม่มีคำอธิบายใดๆเลยที่จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรของกระทรวงกลาโหม แต่ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยต้องการทหารหรือพยาบาลมากกว่ากัน” ธนาธร กล่าว

“กรรมาธิการที่ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรตัดงบลงทุนได้ ตัดงบดำเนินการได้ แต่ตัดงบบุคลากรไม่ได้ สิ่งที่พวกเราพอจะทำได้คือการให้ข้อเสนอแนะว่าจะเพิ่มรายได้อย่างไร ที่ผ่านมาพยายามให้ข้อเสนอแนะอยู่เสมอกับหน่วยราชการที่มารับงบว่า มีเงินงบประมาณจำนวนมากไปกองอยู่ตามกองทุนต่างๆ ตามรัฐวิสาหกิจ ตามองค์การมหาชน ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ให้นำออกมา เพราะประเทศต้องเสียดอกเบี้ยจากการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นจำนวนมาก ต้องนำออกมาแบ่งเบาภาระประเทศ เช่น บางหน่วยงานมีเงินเป็นพันล้านบาท แต่ยังมาของบประมาณอีกร้อยล้าน สองร้อยล้านบาท หรือกรณีของ บริษัท กสท.จำกัด (CAT) บริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) เหลือเงินเป็นหมื่นล้านแต่ไม่มีการปันผลออกมาให้มากขึ้น เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือกระทรวงการคลัง”

ทั้งนี้ การสนทนาของทั้งสองคนยังได้สะท้อนปัญหากรณี บริษัท ท่าอากาศยานไทยหรือ AOT ซึ่งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มติของกรรมการบริหาร  AOT มีมติลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการธุรกิจปลอดภาษีในสนามบินและไม่เรียกเก็บผลตอบแทนขั้นต่ำ ส่งผลให้กำไรของ AOT ในปี 2563-2565 ลดลงรวม 22,536 ล้านบาท ทำให้เงินปันผลของกระทรวงการคลังจะหายไปประมาณ 15,400 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 70 % ลดลงลดลงทันที 32,500 ล้านบาท ในวันที่ 23 เมษายน 2563 มติของคณะกรรมการ AOT ให้งดเว้นการใช้อัตราผลตอบแทนตามสัมปทานใหม่ กลับไปใช้สัญญาค่าเช่าฉบับเดิมคือสัญญาปี 2562 แทน และในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 มีมติให้ขยายเวลาก่อสร้าง เปลี่ยนแปลงการคำนวนผลตอบแทนขั้นต่ำ เปลี่ยนเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญา ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งประมาณการกันว่าจะมีความเสียหายตลอดระยะเวลาสัมปทานมีมูลค่าประมาณ 110,000 ล้านบาท และมูลค่าหุ้นที่กระทรวงการคลังถือได้หายไปในวันเดียวคิดเป็นเงินมูลค่า 20,000 ล้านบาท

ธนาธร สะท้อนข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า การเยียวยาให้กับกลุ่มทุนมีความรวดเร็วฉับไว เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่การเยียวยาให้กับประชาชนกลับช้าและไม่ทันสถานการณ์ นอกจากนี้ บางหน่วยงานมีนวัตกรรมการซอยงบ คือ งานเดียวกัน แต่ซอยแบ่งเป็นตอน ตอนละ 9,999,000 บาท เช่น งานบำรุงพิเศษและบูรณะทางหลวงหมายเลข 23 ตอน บรบือ – หนองจิก จ.มหาสารคาม ของกระทรวงคมนาคม ได้ซอยเป็น 4 โครงการ ต่างกันที่ชื่อเรียกเป็น ตอน 3 ถึง ตอน 6  สาเหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อหลบหลีกระเบียบไม่ให้อำนาจอนุมัติโครงการไปอยู่ที่ส่วนกลางโดยอธิบดี แต่สามารถอนุมัติโครงการละไม่เกิน 10 ล้านบาทโดยผู้อำนวยการแขวงการทางในพื้นที่ได้เลย นอกจากนี้ งบประมาณด้านกระจายอำนาจยังเป็นไปอย่างถอยลงคลอง ซึ่งประเทศไทยจะไปไกลกว่านี้ได้ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง
.
“ในส่วนของงบประมาณด้านการกระจายอำนาจ หน่วยงานท้องถิ่นได้เข้ามาชี้แจงการของบประมาณโดยเล่าให้ฟังว่า รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ หลักๆเป็นเรื่องของ ถนน และค่า อสม. เพราะส่วนกลางมีการให้ถนนไปดูแลมากขึ้น ตามแผนของ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แต่งบประมาณกลับน้อยลง และไปอยู่ที่กรมทางหลวงชนบท นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ กำหนดว่าต้องแบ่งงบให้ท้องถิ่นขั้นต่ำ 25 % และมีเป้าหมายที่ 35 % ซึ่งปีนี้ที่บอกว่าแบ่งให้ 29.5 % แต่ปัญหาในปัจจุบันคือส่วนกลางดันสอดไส้ด้วยการรวมงบฝากไว้ด้วย เช่น งบจ่าย อสม. งบนมโรงเรียน ฯลฯ โดยงบฝากเหล่านี้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจตัดสินใจเพราะถูกกำหนดมาจากส่วนกลางทั้งหมดแล้ว ” ธนาธร กล่าว
.
ในช่วงท้าย ธนาธร กล่าวว่า เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทหรือพูดถึงความเป็นธรรม อยากเห็นท้องถิ่นมีอิสระในการจัดการงบประมาณและมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดอนาคตของตนเอง แต่สิ่งที่สะท้อนครั้งแล้วครั้งเล่าและเด่นชัดมากในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ ความพยายามที่จะดึงอำนาจและงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ให้ท้องถิ่นเติบโตโดยมักมองว่าท้องถิ่นไม่ศักยภาพในการจัดการ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เดิมและเป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ได้พยายามเรียกร้องให้ คืนความชอบธรรมตรงนี้ให้กับท้องถิ่น ในชั้นกรรมาธิการพวกเราจะพยายามพูดในเรื่องนี้และยืนยันในหลักการว่า ประเทศไทยจะไปไกลกว่านี้ได้ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง  และพวกเราจะผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/videos/216119403118771/?v=216119403118771