“ปิยบุตร” ยันต้องยกเลิกบทเฉพาะกาล ส.ว.-รับรองคำสั่ง คสช. ฟื้นคืนหลักการปกติ-ลดอุณหภูมิเดือดนอกสภา

วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในที่ประชุม กมธ. ชุดดังกล่าวเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องบทเฉพาะกาล โดยระบุว่า สำหรับภารกิจของบทเฉพาะกาลนั้นมีไว้เพื่อ 1. งดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรามิให้นำมาใช้ในบางช่วงบางเวลา 2 .ให้สถาบันการเมืองหรือองค์กรที่ดำรงอยู่ก่อนนั้นดำรงอยู่ต่อไปจนกว่าที่จะมีชุดใหม่เข้ามาแทน
3. ให้บรรดาสถาบันการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามระยะเวลากำหนด เช่น ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็นต้น ดังนั้น เมื่อดูจากภารกิจแล้ว บทเฉพาะการจึงต้องมีลักษณะชั่วคราว ใช้บางช่วงบางเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งไปสู่อีกฉบับหนึ่ง จากองค์กรหนึ่งไปอีกองค์กรหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมาดูบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตั้งแต่ ม.262 – 279 รวมแล้ว 18 มาตรา พบว่ามีที่เป็นบทเฉพาะกาลจริงๆ ตามภารกิจ 3 ข้อนั้นเพียง ม.262-268 และ ม. 273 -278 ที่กำหนดให้องค์กรใดอยู่ต่อไปก่อนจนกว่ามีชุดใหม่เข้าแทน กำหนดให้องค์กรต่างๆต้องปฏิบัติเรื่องต่างๆ เป็นระยะเวลาเท่าใด และในปัจจุบันนี้ บทเฉพาะกาลเหล่านี้ได้สิ้นผลไปโดยตัวมันเองแล้ว เพราะ มีสภา คณะรัฐมนตรีใหม่เข้าทำหน้าที่แล้ว มีการปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเรียบร้อยแล้ว

“แต่อีกสองกลุ่ม ม.269-272 ที่ว่าด้วยวุฒิสภา 250 คน และ ม.279 ที่รับรองประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาตามภารกิจแล้วไม่ใช่บทเฉพาะกาล เพียงแต่เอามาใส่ไว้ในหมวดบทเฉพาะกาลเท่านั้นเอง โดยในกลุ่มแรก คือ ม.269-272 เรื่องวุฒิสภาที่มานั้นชัดเจนว่าสัมพันธ์กับ คสช. อีกทั้งยังมีอำนาจหน้าที่เป็นพิเศษ เช่น ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และประชุมร่วมกับ ส.ส.กรณีที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็ชัดว่า ส.ว. 250 คนได้เข้ามาทำภารกิจสืบทอดอำนาจ คือเลือกนายกรัฐมนตรีและปีนี้ก็เห็นหลายครั้งที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ อำนาจแบบนี้ทำให้ ส.ว. ขึ้นมาขี่คอ ส.ส. ทั้งๆ ที่ตัว ส.ว. นั้นไม่ได้มีที่มาจากประชาชน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่ตามภารกิจแล้วไม่ใช่บทเฉพาะกาล คือ ม. 279 ที่ให้การรับรองประกาศคำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่รับรองให้การกระทำของ คสช. ทั้งสิ่งที่ทำไปแล้วในอดีต สิ่งที่ทำในปัจจุบัน และสิ่งที่จะทำในอนาคตทั้งหมด ถูกเสกให้ชอบโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งเราลองพิจารณาเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ. ต่างๆ ซึ่งสภาให้ความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ แล้วพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ พ.ร.บ.ซึ่งมีพระปรมาภิไธยอยู่นั้นมีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญได้ ถ้ามีการโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทว่าประกาศคำสั่ง คสช. ที่มีการลงนามโดยหัวหน้า คสช.เพียงคนเดียว ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยโดยประมุขของรัฐ กลับไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย นี่เป็นนัยสำคัญอย่างยิ่งว่า ตกลงแล้วหัวหน้า คสช. มีอำนาจล้นพ้นขนาดนี้เลยหรือ แล้วจะปล่อยให้บทบัญญัติแบบนี้อยู่ต่อไปได้อย่างไร

“บทบัญญัติแบบนี้ยังทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพราะที่บอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นไม่นำมาใช้กับประกาศคำสั่ง คสช.ทั้งหมด คือทุกสิ่งทุกอย่างมีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญได้หมด ยกเว้นประกาศคำสั่ง คสช. การใช้อำนาจของ คสช. ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญได้เลย เรื่องนี้สำคัญมาก ทำให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเสียหาย และอีกเรื่องที่เสียหายคือ องค์กรตุลาการต่างๆ ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ศาลปกครองก็ดี ศาลยุติธรรมก็ดี หลายครั้งอยากตรวจสอบว่าประกาศ คสช. เหล่านี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็ทำไม่ได้ ติดล็อก ม.279 ทำให้อำนาจตุลาการหายไปเยอะมาก เวลานี้ประชาชนอยากโต้แย้ง ศาลอยากตรวจสอบก็ทำไม่ได้เพราะติดล็อกนี้” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ถ้าดูจาก 18 มาตราในส่วนของบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนที่เป็นบทเฉพาะกาลแท้ๆ จะหายไปเอง เช่น วันนี้ก็ไม่มี คสช. ไม่มี สนช. อยู่แล้ว หรือการกำหนดให้กระทำการต่างๆ ตามระยะเวลาหนึ่งก็ทำเสร็จแล้ว หากแต่ใน 2 กลุ่มหลังที่ไม่ใช่บทเฉพาะกาลตามภารกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ตัองเข้าไปจัดการ ต้องแก้รัฐธรรมนูญและเสนอให้มีการยกเลิก นอกจากจะทำให้สอดคล้องกับหลักนิติศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่มีการชุมนุมหลายพื้นที่ ถ้าสถาบันการเมืองได้ตอบสนองบางสิ่งบางอย่างให้เป็นรูปธรรม ก็จะบรรเทาเบาบางอุณหภูมิทางการเมืองลงได้

“ข้อเสนอที่ผมพูดไปถือว่าน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับใครเลย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ยังอยู่ ส.ส. องค์กรอิสระต่างๆ ก็ยังอยู่ องค์กรตุลาการก็ยังอยู่และท่านก็ได้กลับมาทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ตามปกติได้ด้วย พี่น้องประชาชนก็ไม่เสียประโยชน์อะไร มีแต่เพียงคนกลุ่มเดียวที่ถูกกระทบนั่นคือ ส.ว.250 คน ที่จะต้องหลุดจากตำแหน่งไป ซึ่งจากที่ผมได้เคยเจอหลายท่านก็เห็นว่าเป็นคนมีความรู้ความสามารถ ท่านมีโอกาสเป็น ส.ว.ในระบบปกติ ตามการสรรหากลุ่มวิชาชีพได้ นี่เป็นข้อเสนอที่ win win situation คือ ชนะด้วยกันทุกฝ่าย ไม่มีใครเสีย ทำให้หลักการที่ถูกต้องกลับมาด้วย และอุณหภูมิที่ร้อนแรงนอกสภาลดลงด้วย” นายปิยบุตร กล่าว