ระเบิดวินาศเบรุต : ประชาชนโกรธรัฐบาลเลบานอน – ดูโกดังแอมโมเนียมไนเตรทก่อนบึ้ม

วันที่ 6 สิงหาคม 63 ที่ผ่านมา บีบีซี และ ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครง เป็นผู้นำโลกชาติแรกที่เยือนเลบานอน อดีตอาณานิคมฝรั่งเศส หลังเหตุระเบิดวินาศกรุงเบรุต 4 ส.ค. คร่าชีวิตอย่างน้อย 135 ราย บาดเจ็บมากกว่า 4,000 คน สูญหายหลายสิบคน เมื่อท่ามกลางห้อมล้อมล้อมของชาวเลบานอนที่เดินตามผู้นำฝรั่งเศสและเสียงตะโกน “ปฏิวัติ!” (Revolution!) หลายครั้ง

ประธานาธิบดีมาครงบอกมวลชนเลบานอน จะไม่ให้ความช่วยเหลือตกไปถึงมือของผู้ทุจริต และรับปากจะเรียกร้องสนธิสัญญาการเมืองใหม่จากบรรดาผู้ปกครองเลบานอน หลังมวลชนเลบานอนขอให้ผู้นำฝรั่งเศสช่วยเหลือประเทศ ประณามบรรดาผู้นำเลบานอน และอย่าส่งเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลทุจริตของตัวเอง

ประชาชนกรุงเบรุตแสดงความโกรธแค้นต่อรัฐบาลเลบานอนถึงปัญหาทุจริต ประมาทเลินเล่อ บริหารการจัดการไม่ดี และโยนความผิดไปมากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเลบานอนว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นต้นเหตุ ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล และองค์การสิทธิมนุษยชน เรียกร้องการสอบสวนเหตุระเบิดอย่างอิสระ และแสดงความกังวลต่อความน่าเชื่อและความโปร่งใสของตุลาการเลบานอน

รัฐบาลเลบานอนเพิ่งมีคำสั่งกักบริเวณเจ้าหน้าที่ท่าเรือของกรุงเบรุตผู้เกี่ยวข้องเพื่อรอการสอบสวนเหตุระเบิด วันที่ 5 ส.ค. หลังจากที่ ประธานาธิบดีมิเชล อาอุน ระบุว่า ต้นเหตุเกิดจาก แอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตัน ที่จัดเก็บไม่ปลอดภัยในคลังสินค้าของท่าเรือเป็นเวลา 6 ปี และสภากลาโหมสูงสุดยืนกรานจะลงโทษขั้นสูงสุดกับผู้เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรและท่าเรือกรุงเบรุตเคยเขียนคำร้องหลายครั้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งขายแอมโมเนียมไนเตรทหรือส่งออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัยต่อท่าเรือ แต่ศาลมีคำสั่งตอนแรกเก็บแอมโมเนียมไนเตรทในคลังสินค้าต่อไป ทั้งสองหน่วยงานทราบว่า สารเคมีดังกล่าวอันตราย แต่ไม่คิดว่าอันตรายจะมากขนาดนี้

สำหรับรายละเอียดดังกล่าว เรียม ดาลาตี ผู้สื่อข่าวบีบีซี ทวีตภาพถ่าย คนงานวางถุงแอมโมเนียมไนเตรท 1 ตัว แต่ละใบซ้อนกันและติดกันในคลังสินค้าหมายเลข 12 ซึ่ง เบลลิงแคต เว็บไซต์รายงานข่าวการสืบสวน ระบุ ตรงกับคลังสินค้าของท่าเรือกรุงเบรุตที่เกิดระเบิดมหาศาล ด้วยระยะรัศมีไกลถึง 10 กิโลเมตร จนอาคารบ้านเรือนถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง

นอกจากนี้ มีการเผยแพร่เอกสารสองฉบับที่ระบุว่า เมื่อปี 2559 และ 2560 กรมศุลกากรเลบานอนขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานทางทะเลที่เกี่ยวข้อง ส่งออก หรือ อนุมัติการขาย แอมโมเนียมไนเตรทออกไป และเอกสารฉบับหนึ่งในนั้น อ้างคำร้องแบบเดียวกันเมื่อปี 2557 และ 2558 ที่ระบุคำเตือนหลายครั้งถึงอันตรายจากแอมโนเนียมไนเตรท แต่ทางการกลับมองข้าม

นายอีกอร์ เกรชุชกิน / REN TV

เดอะซัน รายงานว่า แอมโมเนียมล็อตใหญ่ 2,750 ตัน มาจากเรือ โรซอส ติดธงชาติมอลโดวา เทียบท่าเรือกรุงเบรุตและถูกยึดเมื่อปี 2556 หลังมีปัญหาเทคนิคระหว่างเดินทางจากจอร์เจียไปโมซัมบิก ชาติแอฟริกา ทำให้ นายอีกอร์ เกรชุชกิน นักธุรกิจรัสเซีย เจ้าของเรือโรซอส ตัดสินใจทิ้งเรือลำดังกล่าวในปี 2557 หลังต้องจ่ายค่าปรับมหาศาลจนล้มละลาย เนื่องจากขนส่งคาร์โกแอมโมเนียมไนเตรทโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนจะย้ายไปอยู่ไซปรัสกับภรรยา

ในเวลานั้น เหล่ากะลาสีเรือโรซอสถูกบังคับอยู่บนเรือลำดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย ก่อนจะได้รับอนุญาตลงจากเรือขึ้นฝั่ง หลังนัดอดอาหารเพื่อกดดันท่าเรือกรุงเบรุต พร้อมยื่นประท้วงว่า นายเกรชุชกินอ้างล้มละลายจึงต้องทิ้งเรือ และ ลอยแพเหล่ากะลาสีเรือที่ต้องอยู่กับแอมโมเนียมไนเตรทบนเรือ 10 เดือน โดยไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ส่วนคาร์โกแอมโนเนียมไนเตรทจัดเก็บในคลังสินค้าท่าเรือเพื่อความปลอดภัย

สำหรับความคืบหน้าการช่วยเหลือเลบานอนล่าสุด เที่ยวบินความช่วยเหลือการแพทย์ หน่วยกู้ภัย และคลินิกเคลื่อนที่จากนานาประเทศ เดินมาถึงเลบานอนแล้ว ขณะที่ทีมกู้ภัยฝรั่งเศสที่ส่งมาช่วยเหลือในกรุงเบรุตแจ้งข่าวดีกับประธานาธิบดีมาครง ยังมีโอกาสพบผู้รอดชีวิตอีก 7-8 คน ที่น่าจะติดอยู่ในห้องควบคุมแห่งหนึ่งใต้ซากปรักหักพัง

ราโอ เนฮ์เม รัฐมนตรีเศรษฐกิจเลบานอน กล่าวว่า ประเทศจะต้องพึ่งความช่วยเหลือบางส่วนจากนานาชาติเพื่อฟื้นฟูเมืองหลวงใหม่ เนื่องจากเราไม่มีบ่อเงินสกุลดอลลาร์