“พิธา” แนะเร่งตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบทำเหมืองแร่ ยันไม่ต้านพัฒนา แต่สุขภาพ-สิ่งแวดล้อมต้องคู่กัน

เจาะลึกใจกลางปัญหาเหมืองแร่ ‘พิธา’ เสนอตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ยันไม่ต้านการพัฒนา แต่ต้องมีดุลยภาพ คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่เศรษฐกิจด้วย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอ ญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเพื่อการแก้ไขปัญหาการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ และการทำเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยอภิปรายให้เหตุผลว่า การทำเหมืองแร่ในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งเสียงและฝุ่นจากการใช้วัตถุระเบิด ผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินและปนเปื้อนแหล่งน้ำบนดิน ผลกระทบทางสังคม คนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารหนู ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีตัวอย่างจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ในอำเภอร่อนพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช การปนเปื้อนตะกั่วในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปัญหามลพิษทางอากาศ จากการระเบิดหินปูน ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และการทำเหมืองแร่โปแตสใต้ดิน จังหวัดอุดรธานี มีการปนเปื้อนแคดเมี่ยม จากการทำเหมืองสังกะสีในพื้นที่เกษตร รวมถึงมีสารพิษจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ในจังหวัดพิจิตรและจังหวัดเลย
.
ผลกระทบเหล่านี้ มักเกิดจากกระบวนการออกประทานบัตร กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA การประชาพิจารณ์ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง การดำเนินการที่ขาดความรับผิดชอบและขาดการตรวจสอบอย่างแน่ชัดด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงควรให้สภาฯ ตรวจสอบผลกระทบเพื่อให้การดำเนินการต่อไปอย่างรอบคอบ
.
“การอภิปรายครั้งนี้ ผมขออุทิศแก่ธรรมชาติและสรรพสิ่งที่ถูกทำร้ายจากเหมืองแร่ คนที่ตายจากเหมืองแร่ คนที่เจ็บป่วยพิกลพิการเพราะเหมืองแร่ คนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเหมืองแร่ คนที่ติดคุกถูกจองจำจากเหมืองแร่ คนงานเหมืองแร่ทุกยุคทุกสมัยที่ถูกกดขี่ขูดรีดแรงงานจากรัฐและนายทุนเหมืองแร่ และคนที่ต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ทุกหัวระแหงทั่วประเทศไทย คำอุทิศที่ข้างต้นมาจากการถอดบทเรียนการทำเหมืองแร่ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐที่ขาดดุลยภาพ คุณภาพ และเสถียรภาพ จนนำมาสู่การสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนของประชาชนที่ไร้อำนาจที่จะต่อรองกับรัฐและทุนได้อย่างเสมอภาค”
.
พิธา กล่าวต่อไปว่า ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่เหนือจรดใต้และตะวันออกสู่ตะวันตก พบเห็นประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาจากการทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น ปี 2559 มูลค่าการผลิตแร่อยู่ที่ประมาณ 87,000 ล้านบาท แม้จำนวนเงินจากการทำเหมืองแร่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยมหาศาล ในทางกลับกันจำนวนมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คุณภาพและวิถีชีวิตของประชาชนอันเป็นมูลค่ามหาศาลที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้
.
ทั้งนี้ บริบทปัญหาของการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย พบว่า ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนเปิดเหมือง ระยะระหว่างสร้างและทำเหมือง และระยะหลังปิดเหมือง มีปัญหาทั้งสิ้น ระยะก่อนเปิดเหมือง กระบวนการรับฟังถูกมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ชาวบ้านที่คัดค้านถูกกีดกันให้ออกจากเวที แกนนำชาวบ้านในหลายพื้นที่ถูกนายทุนฟ้องร้องหมิ่นประมาท เช่น ชาวบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่คัดค้านเหมืองถ่านหิน หรือกระทั่งมีการใช้อิทธิพลข่มขู่หรือสังหารแกนนำชาวบ้าน เช่น เดือนสิงหาคมปี 2562 มีการอุ้มและข่มขู่แกนนำต่อต้านเหมืองหินปูน ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นการอุ้มจากสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น
.
ระยะที่สองช่วงระหว่างสร้างและทำเหมือง มีการใช้สารเคมีที่เสี่ยงต่อสุขภาพและสามารถปนเปื้อนเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำบริโภคของประชาชนได้ ที่ผ่านมาพบว่าการทำเหมืองส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่บริเวณหลายแห่ง เช่น เหมืองที่หมู่บ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี เหมืองที่ ต.แม่ตาว จ.ตาก รวมทั้ง หมู่บ้านในพื้นที่รอบเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจพบสารปนเปื้อนปรอทและไซยาไนด์ในตัวอย่างเลือด พบอาการป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องกับการได้รับสารโลหะหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตต้องเพิ่มขึ้น เพราะชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่ม ซื้อพืชผักผลไม้จากภายนอกเพื่อเลี่ยงสารโลหะหนักบนพื้นดินของตัวเอง สุดท้ายระยะหลังปิดเหมืองเพื่อการฟื้นฟู เยียวยา ก็มีมีความหมายเฉพาะพื้นที่ในเขตเหมืองแร่ แต่ไม่ได้ครอบคลุมในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณนั้น
.
“ต้องบอกให้เข้าใจตรงกันว่าการเสนอญัตตินี้ ไม่ใช่ต้องการต่อต้านการพัฒนาหรือจะมาขัดขวางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เกิดจากได้มีโอกาสเดินทางไปพบพี่น้องประชาชนภาคต่างๆ และรับเรื่องร้องเรียนที่สภาแห่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนทราบถึงความทุกข์ร้อน การแก้ไขปัญหาการทำเหมืองแร่คงไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้มีการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย แต่คือการหาดุลยภาพ คุณภาพ และเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือชาวบ้านอยู่ได้ นายทุนอยู่ได้ รัฐได้ประโยชน์”
.
สำหรับทางออกเพื่อจัดการเหมืองอย่างยั่งยืน พิธาเสนอให้ วิเคราะห์ตลอด “ชีวิตของเหมือง” (Life of Mine) นั่นคือ ก่อนสร้างเหมือง ต้องมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างมีนัยยะสำคัญในกระบวนการประเมินผลกระทบ หากต้องเวนคืนที่ดินให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน IFC Performance 5 ของธนาคารโลก คือต้องชดเชยเต็มจำนวนและรวมถึงค่าเคลื่อนย้าย โดยมาตรฐานชีวิตของคนที่ถูกย้ายต้องดีขึ้น และต้องมีการวางแผนปิดเหมืองล่วงหน้า อีกทั้งต้องทำมากกว่า EIA, EHIA, SIA เพราะตามแนวปฏิบัติสากลต้องมี HRIA (Human Rights Impact Assessment) คือการประเมินตามหลักการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของ UN ว่าโครงการมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และอีกตัวหนึ่งต้องมี GIA (Gender Impact Assessment) เนื่องจากผู้หญิงมักได้รับผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย เพราะงานเหมืองส่วนใหญ่จ้างผู้ชาย ผู้หญิงจึงมักเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเพราะไม่สามารถทำเกษตรบนที่ดินเดิมได้
.
ขั้นตอนที่สองระหว่างสร้างและดำเนินงาน ต้องมีกระบวนการ Progressive Rehabilitation คือขณะที่ทำเหมืองไป ก็ต้องฟื้นฟูพื้นที่คืนไปพร้อมกัน ไม่รอฟื้นฟูที่เดียวซึ่งใช้เงินก้อนใหญ่ นอกจากนี้ ระหว่างดำเนินงานก็ต้องคอยตรวจสอบ กำกับดูแล ให้เป็นไปตาม EIA, EHIA, SIA, GIA, HRIA และตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายคือการปิดเหมือง จะต้องเตรียมแผนปิดเหมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะจากสถิติทั่วโลกพบว่าการปิดเหมืองก่อนกำหนดด้วยการทิ้งเหมืองมีสูงมากซึ่งจะส่งผลทางสิ่งแวดล้อมตาม เช่น สารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม อาจเข้าไปปะปนในแหล่งน้ำกินน้ำใช้หรือน้ำการเกษตรต่างจากตอนที่เหมืองมีคนจัดการอยู่
.
“ถ้าแนวปฏิบัติในการจัดการทำเหมืองแบบสากลถูกนำมาใช้ในประเทศไทย จะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ จากทำเหมืองได้ สำคัญที่สุดคือประชาชนจะมีอำนาจต่อรองกับรัฐและนายทุนมากขึ้น ดังนั้นผมจึงขอสนับสนุนญัตติให้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญชุดนี้ครับ” พิธา กล่าว