‘ชำนาญ’ แย้ง ‘วิษณุ’ พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ต้องร่างใหม่ ชี้ รบ.หวังแก้รธน.แค่ส่วนได้เปรียบ

‘ชำนาญ’ แย้ง ‘วิษณุ’ พ.ร.บ.ประชามติฯ ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ต้องร่างใหม่ ชี้ รัฐบาลออกอาการอยากแก้ รธน. แค่ส่วนได้เปรียบ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่าหากจะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะต้องร่างกฎหมายประชามติขึ้นมาใหม่เพราะกฎหมายเก่าบังคับใช้ไม่ได้แล้ว และรัฐธรรมนูญที่ออกกฎหมายประชามตินั้นยกเลิกไปแล้ว อีกทั้งกฎหมายประชามติที่ใช้กับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 ก็ใช้เป็นการเฉพาะคราวนั้น

ล่าสุด นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวว่า สําหรับประเทศไทยนั้นได้มีการกําหนดให้มีการออกเสียงประชามติได้ และได้มีการนําเอาการออกเสียงประชามติมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ เช่น ฉบับ พ.ศ.2492 ฉบับ พ.ศ.2511 ฉบับ พ.ศ.2517 ฉบับ พ.ศ.2540 ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 โดย 3 ฉบับแรกกําหนดให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนฉบับ พ.ศ.2540 กําหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่เคยมีการดําเนินการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้
การออกเสียงประชามติระดับชาตินั้นสําหรับประเทศไทยนั้นได้มีขึ้น ตามมาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ที่กําหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทํา
ร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาให้แล้วเสร็จ เมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชน ทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งในการออกเสียงประชามติครั้งนั้นรัฐธรรมนูญกําหนดว่า ต้องทําและถือว่าเป็นการออกเสียงประชามติเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

สําหรับประเทศไทยนั้น การออกเสียงประชามติในฐานะที่เป็นกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตยของประชาชน ก็ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งก็ได้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ขึ้นมาบังคับใช้

นายชำนาญ กล่าวต่อว่า แต่ต่อมาได้มีการยึดอํานาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สนช.) จึงส่งผลให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดการบังคับใช้ไปด้วย แต่อย่างไรก็ดีคสช. ก็ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยในข้อ 3 บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไปโดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกนั้น จึงส่งผลให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติพ.ศ.2552 มิได้มีผลสะดุดหยุดลงแต่ประการใด

นายชำนาญ กล่าวว่า “การที่นายวิษณุ แสดงความเห็นเช่นนี้แสดงว่า รัฐบาลมีธงอยู่ในใจว่าจะแก้ไขเฉพาะบางเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบเท่านั้น เช่น การให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดาที่ไม่ต้องใช้เสียงของฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็น ซึ่งจะได้แก้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจของตนเอง หรือแก้ระบบการเลือกตั้งซึ่งที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลก็เสียส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเช่นกัน เป็นต้น”