“วิษณุ”แย้ม2แบบแก้รธน. รับ รบ.มีธงในใจ แต่ขอรอฟังทุกฝ่าย ชี้ เปลืองงบก็ต้องทำถ้าจำเป็น

‘วิษณุ’ แย้ม 2 แบบแก้รธน. รับ รัฐบาลมีธงในใจแล้ว ขอรอฟังเสียงหลายฝ่าย ป้องกันขัดแย้ง ใช้งบเยอะก็ต้องทำ หากจำเป็น

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในส่วนนี้จะต้องทำประชามติด้วยหรือไม่ ว่า ใช่ เมื่อมีการทำประชามติต้องใช้งบประมาณประมาณ 3,000 ล้านบาท เกือบเท่ากับงบที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อสื่อถามตนก็ตอบไม่ได้มาบ่น หรือบอกว่าเสียดาย ไม่ได้พูดอย่างนั้น ส่วนขั้นตอนเคยอธิบายไปแล้ว แต่ถ้าจะพูดซ้ำก็ต้องเรียนให้เกิดความเข้าใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญแก้ได้ 2 อย่างคือ 1.แก้เป็นรายมาตราหรือรายเรื่อง ที่ไม่เกี่ยวกับหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ที่กระจายอยู่หลายหมวด หากจะแก้บทเฉพาะกาลที่แก้ไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นการแก้เป็นเรื่องๆ ซึ่งจะรวมไปถึงการแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง เช่นจะใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ หรือ 2 ใบ นี่คือประเภทที่หนึ่ง ซึ่งกระบวนการแก้ไขจะเดินตามมาตรา 256 ตามปกติคืนนำเข้ารัฐสภา ผ่านวาระ 1-3 หากมีผู้สงสัยก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการเสร็จภายใน 1 เดือนถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯประกาศใช้ได้ทันที

ส่วนการแก้ประเภทที่ 2 ถ้ามีการแก้หมวด 1 เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป หรือหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งกระจายอยู่หลายหมวด ต้องนำเข้ารัฐสภาผ่านวาระ 1-3 จากนั้นต้องนำไปทำประชามติ และการลงประชามติ ยุ่งยากอยู่เรื่องหนึ่งเพราะมีล็อกเอาไว้ว่า การทำประชามติต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งขณะนี้เรายังไม่มีกฎหมายนี้ และต้องใช้เวลาในกระบวนการออกกฎหมาย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกฎหมายว่า ด้วยการออกเสียงลงประชามติ แต่ออกตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวก็ใช้ไม่ได้ ต่อมามีการออกกฎหมายประชามติเมื่อปี 2559 เพื่อใช้ลงประชามติธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่เป็นการใช้เฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จก็จบกัน ทั้งนี้คนที่จะทำกฎหมายการลงประชามติคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งกกต. เคยส่งร่างมาที่รัฐบาลเมื่อปีพ.ศ. 2562 รัฐบาลก็เตรียมจะเสนอเข้ารัฐสภาเพื่อไว้ใช้รองรับ แต่สมาชิกนิติบัญญัติ (สนช.) ก็หมดวาระ เพราะเปลี่ยนรัฐบาล กกต.จึงนำกฎหมายกลับไปปรับปรุง และยังไม่ได้ส่งกลับมา เมื่อจบเรื่องของการทำประชามติ หากมีการสงสัยก็ต้องถามไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป จึงต้องเลือกเอาว่าจะแก้แบบไหนการแก้ไขมาตรา 256 หรือการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือการแก้หมวด 15 ซึ่งเป็นการแก้แบบประเภทที่ 2 ที่ต้องลงประชามติ ทั้งนี้คิดว่าหากจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงไม่ทันสมัยประชุมสมัยประชุมนี้ เพราะยังมีเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 และการทำกฎหมายการทำประชามติ เพราะต้องมีการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้งบประมาณจำนวนนี้ เพื่อแก้ไขมาตราเดียวถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าคิดว่าจำเป็นจะแก้ก็ต้องคุ้ม ถ้าจะพูดเหมือนที่ฝ่ายค้านบางท่านพูดว่า ก็ไม่เป็นไรถ้าจะต้องเสีย ถ้าเลือกยอมจะต้องเสีย และเหตุผลมีความจำเป็นก็ทำ แต่ถ้าคิดว่าจะลำบากสิ้นเปลืองในยุคนี้เวลานี้ ข้อสำคัญคือ พอดีพอร้ายคือมันคงไม่ได้ลงประชามติหนเดียว เพราะลงเพื่อที่จะไปแก้ นี่คือความเห็นของอีกฝ่ายแต่บอกไม่ได้ว่าคือใคร ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าเขียนว่า จะเสียก็ช่างเพราะเป็นการกระจายรายได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ เพราะเงินไปใช้ในด้านธุรการ ไม่ได้นำไปแจกประชาชน แต่เป็นในส่วนที่ผู้สมัครไปกระจายกันเอง การลงประชามติไม่มีผู้มีส่วนได้เสียที่จะไปแจกหัวคะแนน อีกฝ่ายก็บอกว่า การแก้ไขและลงประชามติต้องใช้เงินเยอะ อาจจะไม่ใช่หนเดียว ถ้าสมมุติว่า ลงประชามติผ่านจนนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ฉบับที่ ส.ส.ร. ก็ต้องนำไปลงประชามติอีกรอบ อย่างน้อยก็ต้องมีการลงประชามติถึง 2 ครั้ง ดังนั้นถ้าจำเป็นจะเสียก็ต้องเสียไม่มีปัญหา ส่วนจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นแล้วแต่พูดกันในทางการเมือง

เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เสนอแนวทางของชุดดังกล่าวมาให้ทางรัฐบาลด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้ส่งมา ซึ่งรัฐบาลก็รอ เพราะนายกรัฐมนตรีพูดกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าอยากให้รอเพื่อจะได้รู้ว่าจะแก้เป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งหมดตอนนี้รัฐบาลมีความคิดอยู่แล้ว ว่าจะทำอะไรในส่วนเหล่านี้ขอให้รอฟัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะตอนนี้ฝ่ายค้านก็จะแก้อย่างหนึ่ง และพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคก็ไม่ได้คิดเหมือนกันหมด ขณะที่ส.ว. ก็คิดจะแก้เหมือนกัน แต่เมื่อเข้าไปที่รัฐสภาต้องใช้เสียงของ 2 สภา ที่มีเสียงประมาณ 750 คน ซึ่งต้องโหวตให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 คน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับเสียงของ ส.ว. 250 คน ที่จะต้องเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 หรือ 84 คน เมื่อไปถึงในการพิจารณาวาระ 3 ก็จะไปย้อนนับเสียง ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่ต้องมีเสียงเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย จึงจะผ่านในวาระ 3 จึงจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป หากแก้ไขแบบที่หนึ่งก็จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ส่วนประเภทที่ 2 จะต้องนำไปลงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นจึงต้องพูดตกลงทำความเข้าใจกันให้ดีก่อน ให้เข้าใจเพื่อไม่ให้ไปเกิดปัญหาในสภา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกัน ซึ่งกมธ. ชุดของนายพีระพันธุ์ก็จะช่วยได้เพราะมีสมาชิกจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

เมื่อถามว่า นายกฯ จำเป็นต้องยืนตามความเห็นของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่จำเป็น นายกฯ เพียงอยากทราบว่าจะแก้ในประเด็นอะไรบ้าง ถ้าถามใจรัฐบาล ก็มีธงอยู่แล้วว่าอยากจะแก้อะไร

เมื่อถามว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จริง ใครพูด รัฐบาลไม่เคยพูดในสิ่งนั้น เพราะรัฐบาลบริหารงานมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งคำว่ารัฐบาล ไม่ได้หมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ แต่หมายรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ที่พบปัญหาที่บ่นๆ ว่ามีหลายเรื่อง เช่น มาตรา 144 ที่พูดกันมาหลายวันเป็นต้น ซึ่งเสียงที่คิดว่าจะแก้มาตรานี้มีท่วมท้น