อดีต รมว.คลัง ถามแรง! จะใช้ความเขลาบริหารประเทศไปเรื่อยหรือ?​ หลัง รบ.กู้‘เอดีบี’ ใช้โครงการโควิด ทั้งที่ไทยมีเงินสำรองมาก เสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน​

“ศ.สุชาติ อดีตรมว.คลัง แปลกใจ รัฐบาลกู้เงิน ‘เอดีบี’ ใช้ในโครงการโควิด-19 เงินตราต่างประเทศเรามีมากมาย ควรคืนเงินกู้ด้วยซ้ำไป เราจะใช้ความเขลา​เช่นนี้ บริหารประเทศไปเรื่อยๆ​ หรืออย่างไร​ ? ”

5 ส.ค. 63 ศาสตราจารย์​ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมาก ที่เห็นข่าว ครม.เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ ‘เอดีบี’ วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 48,000 ล้านบาท) ตามกรอบ พ.ร.ก.กู้เงินแก้โควิด-19​ เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

1.“เงินสำรองระหว่างประเทศ​ เรามีมากมาย​เกินความจำเป็น ไปกู้มาทำไม”​ ทำให้เสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน​ เหมือนเมื่อครั้งไทยล้มละลาย​ในปี​ พ.ศ.2540

2.แม้บางโครงการในเงินกู้โควิด-19​ ที่ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ​ ธนาคารชาติก็มีมากมายให้แลกไปจ่ายได้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่กระทรวงการคลัง ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ​ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ​(Macroeconomics) ความจริงแล้ว ประเทศไทยต้องคืนเงินกู้ต่างประเทศด้วยซ้ำไป​ เพราะเรามีเงินสำรองฯ​ มากเกินไป

3. การกู้เงินโครงการโควิด​ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลควรออกพันธบัตรรัฐบาล​ กู้เงินจากธนาชาติโดยตรง​ ซึ่งนโยบายนี้เรียกว่า​ ​​Quantitative Easing หรือ​ ‘คิวอี’​ ที่ทั่วโลกทำกัน​ทั่วไป ก็คือการเพิ่มปริ​มาณเงิน​บาทในระบบเศรษฐกิจ​ ซึ่งเราเพิ่มได้เอง​ เงินสำรองมีมากเกินพอ จึงไม่ต้องกลัวขาดสภาพคล่องในภาคธุรกิจ​ ไม่ต้องกลัวเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อของเราตอนนี้ต่ำเกินไป​

4. น่าเสียดายมาก ที่ประเทศไทย​ถูกปกครองโดยคนไม่มีความรู้​ ในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ส่วนใหญ่​ใช้วิชาการเงินธุรกิจ​ (Business Finance) ซึ่งปรัชญาต่างกันตรงข้ามเลย​ โดยวิชาการเงินธุรกิจใช้บริหารบริษัท​ แต่วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคใช้บริหารประเทศ​

5.การอ้างว่า​ดอกเบี้ยถูก-ค่าเงินต่ำ-หนี้ต่างประเทศเทียบหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่ถึง 3% จึงไม่ใช่ประเด็น รัฐบาลไทยไปเสียดอกเบี้ยให้ต่างประเทศไปทำไม​ ยิ่งอ้างว่ากู้ต่างประเทศ เพื่อกันสภาพคล่องในประเทศสำหรับผู้ประกอบการ​ ยิ่งน่าแปลกใจมาก​ เงินสำรองต่างประเทศ​เรามีมากมาย​ ใช้หนุนการเพิ่มปริมาณเงินบาทเพิ่มสภาพคล่องได้

6.เราจะใช้ความเขลา​ความไม่รู้วิชาการ มาบริหารประเทศเช่นนี้ไปเรื่อยๆ​ หรืออย่างไร​? ดร.สุชาติ​ กล่าว.