ปธ.ผู้ตรวจฯเผย ส่งศาล รธน.ตีความอดีต สนช.นั่งเป็น กสม.ได้หรือไม่แล้ว ชี้หากศาลชี้ว่าได้ กระบวนการสรรหาไปต่อได้เลย

‘ปธ.ผู้ตรวจฯ’ เผย ส่งศาล รธน.ตีความอดีต สนช.นั่งเป็น กสม.ได้หรือไม่แล้ว ชี้ หากศาลชี้ว่าได้ กระบวนการสรรหาไปต่อได้เลย ไม่ต้องเริ่มใหม่ ระบุ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิก่อนหน้านี้ก็อาจได้รับอนุโลม

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึง กรณีที่นางจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยการกระทำของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้พิจารณาลักษณะต้องห้ามและวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 คนมีลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับการสรรหาเป็น กสม. เนื่องจากเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และถูกตัดสิทธิในการเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ว่า ได้ส่งเรื่องการสรรหา กสม. ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่าการที่คณะกรรมการสรรหา กสม.ตัดสิทธิอดีต สนช. 2 คน น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งถ้อยคำในกฎหมายเหมือนกันทุกตัวอักษร แต่ว่าการตีความของกรรมการสรรหาของ ป.ป.ช. และกรรมการสรรหาของ กสม.ตีความแตกต่างกัน จึงเป็นปัญหา

พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับศาล ถ้าศาลบอกว่าอดีต สนช.เข้ารับการสรรหาได้ อดีต สนช.ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ป.ป.ช.ก็เป็นต่อไปก็สามารถดำรงตำแหน่งอย่างไม่ต้องกังวล ขณะเดียวกันก็ต้องคืนสิทธิในการเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ให้กับทั้ง 2 คน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสรรหา กสม.ก็ไม่ต้องมาเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ เพราะขณะนี้กรรมการสรรหาเพิ่งมีมติเลือกผู้เหมาะสมเป็น กสม.สายกฎหมาย 1 คน ยังเหลืออีก 2 คน ดังนั้น ก็เพียงแต่มีสิทธิเข้าห้องสอบ โดยคืนสิทธิให้นางจินตนันท์ และ พล.อ.นิพัทธ์ จะได้รับเลือกจากกรรมการสรรหาหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“แม้ว่าคนที่ได้ไปแล้ว ถ้าศาลบอกว่าเขามีสิทธิเข้าห้องสอบก็อาจจะต้องมาสอบใหม่อีกที ส่วนจะเลือกคนที่สอบได้ หรือเลือกคนที่เพิ่งเข้าห้องสอบ ก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหา เพียงแต่เปิดโอกาสให้ 2 คนเข้าห้องสอบ จะสอบหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” พล.อ.วิทวัสกล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนด้านกฎหมายที่เลือกไปแล้ว แล้วมีบางคนที่สมัครไปแล้ว แล้วเป็นอดีต สนช.ที่ถูกตัดสิทธิไปแล้ว แต่ไม่ได้ร้อง เขาสามารถมาร้องเพื่อล้มกระบวนการได้หรือไม่ พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า ไม่ต้องยื่น เพราะคณะกรรมการสรรหาจะนำผลการตัดสินของศาลที่เป็นผลดีต่อเขา มาพิจารณา คือก็จะนำรายชื่อเหล่านั้นกลับมาพิจารณาอีกครั้ง และกรณีจะไปโทษว่าเป็นความผิดของกรรมการสรรหาที่ตีความกฎหมายผิดไม่ได้

“คำวินิจฉัยของกรรมการสรรหาถือเป็นที่สุด แต่เราก็บอกกับศาลว่า แม้จะเป็นที่สุดแต่ก็ไปผูกพันตาม มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าท่านทำผิดต่อหลักนิติธรรม ศาลก็ต้องดู” พล.อ.วิทวัสกล่าว