รัฐสภา รับหลักการร่างกม.ตั้งสนง.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

รัฐสภา รับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม” ตั้งสนง.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ รองรับการบริหารจัดการทรัพยากรดินของประเทศ

การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 ส.ค. โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 เพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติขึ้น มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกฯ โดยกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อรับผิดชอบในการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการดำเนินงานของ คทช.ใช้หลักการใดในการพิจารณาโอนหรือรับหน่วยงานต่างๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตนมองว่าเป็นการสร้างหน่วยงานใหม่และกรอบระเบียบใหม่มากกว่าที่จะเป็นการบูรณาการหน่วยงาน เนื่องจากกรณีของที่ดินยังมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แต่กลับไม่มีแนวทางการบริหารจัดการ บูรณาการ หรือแม้แต่การยุบ ส.ป.ก.เข้ามาอยู่ในสังกัดสำนักงานดังกล่าว อีกทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อตรวจสอบข้อมูลกลับพบว่า ยังไม่มีผู้แสดงความเห็นแต่อย่างใด ทั้งที่เรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งกรณีที่จะไม่มีการเพิ่มอัตราข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใหม่ ทั้งที่ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการปฏิบัติงานด้วย ทั้งนี้การกระจายการถือครองที่ดินถือเป็นหัวใจหนึ่งของการปฏิรูปความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ แต่หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีรายละเอียดที่ตอบโจทย์ถึงการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินอย่างแท้จริง ก็คงต้องทบทวนว่าจะรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่

ด้านนายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ปัญหาที่ทำกินของประชาชนแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.ชุมชนทำกินในที่ดินมาก่อน แต่เมื่อรัฐไปขีดเส้นแนวเขต ประชาชนจึงกลายเป็นคนผิด ถูกดำเนินคดีอาญา 2.การทำงานที่ไม่สอดคล้องกันของหน่วยงานรัฐคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่พบว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดตั้งแต่ปี 2518 ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น แล้วให้ สปก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยไม่ต้องเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ แต่กรมอุทยานฯ กลับยังใช้แผนที่เดิมตั้งแต่ปี 2524 ไม่ได้มีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ สปก.ปรับปรุงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ สปก.ถูกดำเนินคดีอาญา และ3.การบุกรุกเชิงพาณิชย์ที่แก้ไขได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ขอเสนอ 3 ทางออกคือ 1.ตราพระราชกฤษฎีกาในแนวเขตอุทยานทับลานปี2543 ให้เร็วที่สุด 2.ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนทันที ถอนฟ้องทุกคดีที่ทับซ้อนกับ สปก. และ 3.ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งสำรวจพื้นที่ที่เหลือ

ขณะที่นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า การตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในระดับจังหวัด ถือเป็นการกระจายอำนาจ และเป็นการฟังเสียงประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งปัญหาคนถือครองที่ดินมือแรกครอบครองโดยผิดกฎหมาย อาจจะเป็นเรื่องของผู้มีอิทธิพล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกทะเบียนที่ดิน ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว และต้องเยียวยาผู้ได้ที่ดินมาโดยสุจริตด้วย โดยให้เช่าที่ดินระยะยาวทำธุรกิจต่อไปได้โดยที่ดินยังเป็นของรัฐ ก็จะแก้ปัญหาที่ดินทำกินและช่วยให้การบุกรุกที่ดินน้อยลง

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 564 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 51 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 49 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน