‘สุทิน’ หวังแก้ รธน.ม.256 ใช้เวลาไม่เกิน 5 เดือน เชื่อ ส.ว.จะเห็นแก่ประโยชน์ชาติ

‘สุทิน’ ย้ำแก้ รธน.มาตรา 256 ไม่ควรใช้เวลาเกิน 5 เดือน เชื่อ ส.ว.จะเสียสละเห็นแก่ประโยชน์บ้านเมือง ชี้ประชามติต้องทำ เสียเวลาก็ยอม

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ.ได้สรุปไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และเงื่อนไขเวลาที่ให้กระชับ ซึ่งวันนี้หลายพรรคก็ขานรับนำไปเป็นแนวทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าการแก้มาตรา 256 อาจติดเงื่อนไขว่าต้องไปทำประชามติ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก และต้องหาเสียง ส.ว.มารับรอง กระบวนการนี้คาดว่าจะให้เสร็จภายในกี่เดือน นายสุทินกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากอยู่แล้ว การทำประชามติก็เป็นขั้นตอนที่เขียนไว้เพื่อให้เกิดความยุ่งยาก แต่ไม่ว่าจะยุ่งยากขนาดไหนก็ต้องทำ และไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แม้จะเสียเวลาก็ยอม เสียเงินยิ่งดี ทั้งนี้ ตนแนะนำรัฐบาลวิธีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี เลือกตั้งทุกครั้ง กระแสเงินจะหมุนเวียน และยิ่งการทำประชามติจะช่วยให้รัฐบาลได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีด้วย เพราะการแจกเงินอย่างอื่นก็ยังแจกแบบไม่หวังผล แล้วจะถ้าจะอัดเงินเพื่อให้ได้ประชามติ ทุกคนได้ผลลัพธ์กันทั้งประเทศก็ควรทำ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการคิดว่าคงไม่ล่าช้า หากปรับวิธีการทำงานแบบใหม่ เพราะไทยมีประสบการณ์และเรียนรู้มาหมด เพียงแต่วันนี้จะหยิบอะไรมาใช้ ถ้าจะทำให้เร็วก็ง่ายนิดเดียว

เมื่อถามว่า กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะรายงานต่อสภาได้เมื่อใดถึงแนวทางแก้ไขมาตรา 256 นายสุทินกล่าวว่า สาระเราได้สรุปแล้ว นี่เป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะรายงานต่อสภาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ หรือเร็วที่สุด ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นี้ คิดว่าควรทำไม่เกิน 5 เดือน และคิดว่าในสัปดาห์นี้พรรคการเมืองต่างๆ คงจะยื่นเรื่อง รวมถึงพรรค พท. ส่วน ส.ว.จะเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ด้วยหรือไม่นั้น ถ้าเราไปคิดว่า ส.ว.เขาเห็นแก่ตัว เขาหวงอำนาจ แน่นอนว่า ส.ว.คงไม่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเราคิดว่า ส.ว.เห็นประโยชน์ของบ้านเมืองเหมือนกันคงฟังเสียงประชาชน และคิดว่า ส.ว.คงจะไม่ขัดขวาง โดยก่อนหน้านี้ตนไม่มีความหวังกับ ส.ว. แต่วันนี้เริ่มเห็นความหวังว่าเขาจะเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง และคิดว่าเขาคงจะเสียสละ ไม่รักษาประโยชน์ของตนเองจนไม่มองบ้านเมือง

เมื่อถามว่า จะสื่อสารกับนักศึกษาอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการยกระดับการชุมนุมจนต้องยุบสภาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะได้รับการแก้ไข นายสุทินกล่าวว่า เราไปชี้นำไม่ได้ เชื่อว่าเขามีความรู้ มีวิธีคิดของเขา ส่วนเราก็ทำหน้าที่ของเราไป อะไรที่เราตอบสนองได้และเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ทำ เช่น การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นิสิต นักศึกษาอาจจะมองว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และถ้าเงื่อนไขบรรลุแล้วเขาอาจจะสลายการชุมนุมไป หรือเขาอาจจะมองว่าเป็นปฐมบท การที่นักศึกษาจะถอยเลย เขาจะไว้วางใจได้หรือไม่ จึงอาจอยู่และต้องทวงถามไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปได้หลายวิธีการ

เมื่อถามว่าการที่พรรคการเมืองตั้งเงื่อนไขว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับรัฐบาลในการแก้รัฐธรรมนูญควรตัดสินใจได้เมื่อใด นายสุทินกล่าวว่า ตนมองว่าเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองจะได้แสดงจุดยืน และทิศทางของพรรคตนเอง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สังคมทั้งจับตา และรอคอยความหวัง หากพรรคการเมืองใดจะใช้โอกาสนี้เลือกทางเดินของตัวเอง ใครที่จะเลือกอยู่กับรัฐบาลแล้วอยู่ต่อไปเพราะแนวทางตรงกัน หรือแนวทางไม่ตรงกันแล้วจะแยกตัวออกมาเช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่จุดนี้จะแสดงจุดยืนจะเป็นการแสดงความจริงใจของพรรคการเมือง